เขียนโดย Mheechola
คำถามนี้เป็นคำถามที่วัยรุ่นถามบ่อยมากจนคุณสังเกตได้ วันนี้เรามีผลิตภัณฑ์ใหม่มานำเสนอนั่นคือ ครีมลดความสงสัย ตราไซโคล่า! เอาละ ไร้สาระกันพอแล้ว คุณลองมาอ่านบทความแปลชิ้นนี้กันดีกว่า…. เมื่อคนนึกถึงนักจิตวิทยา มักจะคิดถึงนักบำบัดที่เรียนมาสูงๆนั่งอยู่ที่ออฟฟิศหรูหรา หรือคิดถึงนักวิทยาศาสตร์หัวฟูๆในมือถือเข็มอิเล็กโตรดคอยจิ้มสมองเล็กๆหนูทดลองในห้องแล็บ ซึ่งจริงๆแล้วมันก็จริง แต่เป็นเพียงส่วนเล็กๆส่วนหนึ่งของสิ่งที่นักจิตวิทยาทำ นักจิตวิทยาสามารถเข้าไปทำงานได้ในหลากหลายสาขาอาชีพมาก ถึงแม้ว่างานหลักใหญ่ๆจะอยู่ในด้านการบำบัดและการเรียนการศึกษา และส่งที่จะบอกต่อไปนี้คือกลุ่มงานที่คุณๆสามารถเลือกไปทำงานได้หลังจากที่ได้เรียนจิตวิทยา โดยทั่วไปแล้วควรจะจบปริญญาเอกแต่ก็มีบางสายงานที่จบปริญญาโทก็เพียงพอที่จะทำงานได้แล้ว 1.กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษา (Clinician) กลุ่มนี้มักจะทำงานในโรงพยาบาล ไม่ก็ตามชุมชนต่างๆ หรือไม่ก็ทำเองส่วนตัวโดยใช้เวลาทำงานของตนเองทั้งวันในการอยู่กับผู้ที่รับการบำบัด โดยทั่วไปแล้วงานกลุ่มนี้จะต้องการการศึกษาระดับปริญญาเอกในทั้งสาขาจิตวิทยาคลินิกและจิตวิทยาการปรึกษา และควรจะได้เรียนเรื่องจิตพยาธิวิทยาและวิธีการรักษาต่างๆมาอย่างดี ในสหรัฐอเมริกาจะมีกลุ่มที่ทำงานแบบนี้ประมาณ 40-45% ของนักจิตวิทยาทั้งหมด 2.กลุ่มนักการศึกษา (Educator) ในสหรัฐฯ นักจิตวิทยามักจะเริ่มต้นทำงานกับด้านการศึกษาอยู่ประมาณ 40% บางคนก็สอนจิตวิทยา บางคนก็ทำงานวิจัยและให้ดูแลโครงงานวิจัยของนักเรียนนักศึกษา แนะนำการทำวิทยานิพนธ์หรือปริญญานิพนธ์ของนักศึกษา และบางคนก็ทำวิจัยกันเอง อยู่ในห้องทดลองหรือที่อื่นๆ หลายคนในกลุ่มนี้ก็เหมาเอาหมดทุกงานตามที่ได้กล่าวมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ 3.กลุ่มธุรกิจ (Business) นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การที่ได้รับการฝึกฝน ได้รับการเทรนในแวดวงธุรกิจและการจัดการองค์กร คนกลุ่มนี้จะถูกว่าจ้างโดยองค์กรใหญ่ๆหรือบริษัทที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านการยศาสตร์(Ergonomic คือ การทำให้สถานที่ทำงานและเครื่องใช้ไม้สอยให้เหมาะสมกับผู้ที่ทำงาน) งานที่ได้ทำจะขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจที่เข้าไปทำและความต้องการของบริษัทนั้นๆ แต่ก็ทำอยู่เกี่ยกวับการสัมภาษณ์งาน การจ้างคน การฝึกพนักงาน การเลื่อนขั้นพนักงาน การประเมินการสื่อสารระหว่างบุคคลและระหว่างกลุ่มกัน และช่วยเหลือผู้บริหารในการตัดสินใจในเรื่องเกี่ยวกับลูกจ้างและนโยบายกฏเกณฑ์ต่างของพนักงานแม้ว่าเป็นสาขาเฉพาะที่กำลังเติบโตอยู่เรื่อยๆ แต่ทว่าในสหรัฐฯก็มีสัดส่วนแค่ 5% จากนักจิตวิทยาทั้งหมด 4.กลุ่มงานกีฬา (Sports) นักจิตวิทยาบางคนก็ผสมผสานระหว่างด้านกีฬาที่ตนเองสนใจเข้ากับความรู้ทางด้านพฤติกรรมมนุษย์และแรงจูงใจต่างๆ ผู้ที่ทำงานสายอาชีพนี้มักจะทำงานเพียงกีฬาใดกีฬาหนึ่งไปหรือเจาะจงบางทีมไปเลยเพื่อศึกษาและช่วยให้ทีมพัฒนาได้ดีขึ้น เมื่อทีมอยู่ในสภาวะแรงจูงใจตก มีความกังวล ความกลัว และตอนที่มีเป้าหมายในการแข่งขัน 5.กลุ่มงานเทคโนโลยี (Technology) เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ตเป็นกลุ่มงานใหม่ที่ตระหนักถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์จากจิตวิทยา นักจิตวิทยาจะมีบทบาทเข้าไปเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์เรื่องระหว่างคนกับเครื่องจักร คนกับสิ่งแวดล้อมการทำงาน คนกับเทคโนโลยี เป็นต้น หรือจะพูดอีกอย่างได้ว่า นักจิตวิทยากลุ่มนี้จะศึกษาว่าเทคโนโลยีจะส่งผลอย่างไรกับเรา และเทคโนโลยีจะช่วยทำให้ชีวิตของเราดีขึ้นได้อย่างไร 6.กลุ่มงานอื่นๆ (Other) ผู้เขียนไม่สามารถระบุได้หมดว่านักจิตวิทยาสามารถทำอะไรได้บ้าง เพราะว่านักจิตวิทยาสามารถทำงานได้หลากหลายมากมาย บางคนก็ทำงานส่วนตัวเป็นพาร์ทไทม์และมีสอนบ้าง บางคนก็ทำการวิจัยในช่วงปิดภาคฤดูร้อนและก็เข้าสอนในช่วงเดือนอื่นๆ บางคนก็เอาความรู้จิตวิทยาไปใช้ในการอาชีพของตนเอง งานใดที่ใช้คนก็ควรจะคิดถึงนักจิตวิทยาเข้าไปด้วย ยังไงก็ตามสิ่งที่นักจิตวิทยาควรจะเก่งๆเอาไว้คือ ศึกษาเกี่ยวกับด้านปัญญาการรู้คิด ศึกษาอารมณ์ และศึกษาพฤติกรรมคนนี่แหละ ที่ได้อ่านไปก็คืออาชีพของนักจิตวิทยาในสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็พอจะเป็นแนวทางที่น้องๆจะเอาไปตอบพ่อแม่ที่ถามมักจะถามว่า “จบจิตวิทยาแล้วทำอะไรเหรอลูก” แต่…แล้วในเมืองไทยฟ้าใส ในน้ำมีปลาในนามีข้าวอย่างบ้านเราล่ะ จิตวิทยามันทำอาชีพได้อย่างนี้จริงหรือ? คำตอบจากผมคือ จริง แต่บ้านเราจะเน้นไปที่กลุ่มธุรกิจและกลุ่มการศึกษามากกว่า เพราะ เนื่องจากเห็นได้ว่าจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การเป็นสาขาที่มีประชาชีสนใจตบเท้าเข้าไปเรียนมากที่สุดนั่นเอง! และเมืองไทยจะพบนักจิตวิทยาที่ทำอาชีพครูอาจารย์มากที่สุดด้วย! แล้วนอกจากนั้นก็มีหลายอาชีพให้นำความรู้จิตวิทยาไปใช้ หลากหลายเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นนักจิตวิทยาคลีนิก (เป็นชื่อเรียกสาขาหนึ่งในจิตวิทยา) นักจิตวิทยาคลีนิกเหล่านี้ชอบสิงอยู่ตามโรงพยาบาล เฮ้ย! คนนะไม่ใช่ผี นักจิตวิทยาสังคม (เป็นอีกสาขาหนึ่งเหมือนกัน)มักจะอยู่ตามบริษัทวิจัย วิจัยโฆษณาก็มีนะ คนพวกนี้ทำงานวิจัยได้ดีเลยทีเดียวขอรับ นักจิตวิทยาการปรึกษา (เป็นชื่อสาขาหนึ่งในจิตวิทยาอีกแล้ว) คนพวกนี้จะอยู่ตามโรง’บาล ไม่ก็โรงเรียน หรืองานที่เกี่ยวกับสังคม ช่วยเหลือผู้อื่น มูลนิธิต่างๆ นักจิตวิทยาอุตสาหะ..อ้อ เขียนไปแล้วนี่นา และผมคิดว่าไม่มีอาชีพใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยา เพราะ จิตวิทยาสามารถเอาใช้ได้ทุกที่ที่มี”คน”อยู่ ลองมาดูตัวอย่างหลุดโลกๆกัน เช่น แม้แต่ทำงานเกี่ยวกับส้วมๆก็ใช้จิตวิทยาได้ สมมติผมได้รับตำแหน่งเป็นพนักงานประจำส้วม ผมก็คิดแล้ว ว่าจะทำยังไงให้คนที่นั่งอึอยู่มีความสุขโดยไม่เสียเซลฟ์เวลาที่ตดเสียงดัง เพื่อให้คนตดลดความเป็นตัวตนลง (ลด Identity ลง) นักจิตวิทยาอย่างผมก็เลยเอาเสียงเพลงไปเปิดกล่อมในส้วมซะเลย ทีนี้จากเสียงเงียบๆในห้องน้ำ ก็กลายเป็นดนตรีอันไพเราะโดยที่มีเสียงปู้ดป้าดเป็นจังหวะประกอบเข้ากันได้อย่างลงตัวและเนียนเหมือนไม่มีเสียงตดเกิดขึ้น!!! คราวนี้คนนั่งอึก็จะได้ปลดทุกข์ได้อย่างหมดทุกข์อย่างสมบูรณ์ ทีนี้สำหรับคนที่จะมาเรียนจิตวิทยา ผมคิดว่าจิตวิทยาจริงๆมันเป็นวิชาที่กว้างมาก มันเลยเอาไปใช้ได้กว้างมากเช่นเดียวกัน ดังนั้น คนที่อยากเรียนหรือกำลังเรียนจิตวิทยาอยู่ควรจะค้นหาว่าตนเองชอบจิตวิทยาสาขาอะไร แล้วมุ่งเน้นเพื่อเป็นคนเจ๋งๆ expert ทางสาขานั้นๆไปเลย จะดีมากครับ แต่วัยรุ่นส่วนใหญ่จะปราศจากกับคำว่า “รู้ว่าตัวเองอยากเป็นอะไร” ก็จงหาตัวเองต่อไปนะขอรับ ซึ่งเรื่องนี้คงต้องพูดอีกยาว ครั้งหน้าจะเอามาฝากกันนะขอรับ. อ้างอิง จาก Careers in Psychology เว็บ http://allpsych.com/education/careers.html |
ArchivesCategories |