คลิกดูที่นี่ Link VDO http://video.mthai.com/general/player/1198948245.html
Script VDO แนะนำจิตวิทยา (Introducing Psychology) หลายๆคนในที่นี้ อาจจะสงสัยว่า จิตวิทยา คืออะไร นี่คือจิตวิทยาหรือเปล่า นี่ใช่หรือเปล่า แล้วนี่ล่ะ นักจิตวิทยา อ่านใจคนได้จริงหรือ นักจิตวิทยา หมายถึงอะไรกันแน่ จิตวิทยาหรือไซโคโลจี้ (psychology) มาจากคำว่า ไซคี (Psyche) บวกคำว่า โลจี้ (Logy) โดย Psyche หมายถึง Breath of Life หรือ Soul of Spirit ซึ่งหมายถึงจิตใจ Logy มาจาก โลกอส (Logos) หมายถึงความรู้และการศึกษา แต่อย่างไรก็ตามความหมายดังกล่าวดูจะล้าสมัยไปซะแล้วในยุคปัจจุบัน นักจิตวิทยาสมัยใหม่พยายามอธิบายว่า อะไรคือจิตวิทยาและอะไรที่ไม่ใช่จิตวิทยาโดยใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาแบ่งแยก ท้ายที่สุด เราได้นิยามเชิงปฏิบัติการดังนี้ “จิตวิทยา คือ การศึกษาทางจิตใจ รวมทั้งพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์” แล้วจุดเริ่มต้นจิตวิทยามาจากที่ใด มนุษย์เราเริ่มศึกษาเกี่ยวกับจิตใจกันมานานแล้ว โดยผ่านคำถามต่างๆทางปรัชญา สิ่งที่เราเป็นนั้นเป็นผลมาจากสิ่งที่เราเกิดมา หรือมาจากการเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมที่เราเติบโตมา ผู้ที่นำศาสตร์ทางด้านจิตวิทยา ก้าวเข้ามาสู่ความเป็นวิทยาศาสตร์ คือ วิลเฮม วุ้นด์ (Wilhelm Wundt) เขาคือคนแรกที่สร้างห้องทดลองทางจิตวิทยาขึ้นมา และเมื่อจิตวิทยาก้าวเข้ามาสู่ความเป็นวิทยาศาสตร์แล้ว ก็มีนักจิตวิทยาบางกลุ่ม มุ่งศึกษาระบบทางสรีระวิทยาและชีววิทยาที่ส่งผลต่อพฤติกรรม ความคิด ความรู้สึกและอารมณ์ของมนุษย์ บางครั้งทำการศึกษาโดยผ่านการทดลองกับสัตว์ด้วย จิตวิทยาจะศึกษาเกี่ยวกับประสาทสัมผัสทั้งห้า (Sensory) และกระบวนการรับรู้ (Perception) การรับรู้ที่แตกต่างของบุคคลทำให้เราเข้าใจในพฤติกรรมของมนุษย์ เช่น ในบางสถานการณ์บางคนอาจจะโกรธมาก แต่บางคนกลับไม่โกรธเลย ทำไมดาราจึงถูกรับรู้ว่าเป็นบุคคลที่น่าดึงดูดใจ ทำไมการรับรู้ของบุคคลที่รับรู้ผิดปกติจึงแตกต่างจากคนปกติ ทำไมเรากล้าที่จะทำผิดกฎจราจรเมื่อไม่มีตำรวจอยู่ แล้วบุคคลผู้เป็นครูจะทำอย่างไรให้นักเรียนสนใจในการสอน โดยไม่ใช้การลงโทษที่รุนแรง รวมทั้งทำไมบางคนเกิดอาการกลัวสิ่งต่างๆ จนควบคุมตนเองไม่ได้ เช่น การกลัวงู กลัวแมงมุม นักจิตวิทยาต้องการตอบคำถามเหล่านี้ นักจิตวิทยามุ่งที่จะเรียนรู้และพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านนี้ ทำไมนักวิทยาศาตร์บางคนจึงใช้เวลาค่อนชีวิตในการทดลองสิ่งต่างๆ จนกระทั่งมนุษย์สามารถขึ้นไปเหยียบบนดวงจันทร์ได้ แต่ขณะที่มนุษย์บางคนก็ทำอาชญากรรม ฆ่าคนอื่นได้อย่างสยดสยอง อะไรกระตุ้นให้เขาทำสิ่งนั้น นักจิตวิทยาต้องการหาคำตอบว่า มนุษย์มีกระบวนการคิดอย่างไร ภาษาที่สลับซับซ้อนมนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นมาได้อย่างไร ความทรงจำและกระบวนการคิดของมนุษย์นับว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างยิ่ง มนุษย์สามารถจำข้อมูลต่างๆได้มากกว่าสัตว์ชนิดต่างๆ นักจิตวิทยาจึงสนใจกระบวนการจำของมนุษย์ อารมณ์ต่างๆทั้งความกลัว ความรัก ความโกรธ สิ่งเหล่านี้ล้วนอยู่ในมนุษย์ทุกคน มันเกิดขึ้นได้อย่างไร เราสังเกตอารมณ์เหล่านี้ได้อย่างไร สีหน้าแบบไหนทำให้เรารู้ว่าเพื่อนกำลังโกรธ และความก้าวร้าว ความกลัวมีประโยชน์อะไรกับเรา นักจิตวิทยาพยายามศึกษาที่มา แหล่งของความเครียดและกลวิธีต่างๆที่จะช่วยเหลือมนุษย์ให้อยู่กับความเครียดได้ ความฉลาดของมนุษย์คืออะไร ไอคิว(IQ) และอีคิว (EQ) มันคืออะไร นักจิตวิทยาวัดมันได้อย่างไร ในปัจจุบันแนวทางในการศึกษาศาสตร์ทางด้านจิตวิทยาแบ่งได้ 6 แนวทาง คือ 1. พลวัตทางจิต (Psychodynamic) 2. พฤติกรรมนิยม (Behavioralism) 3. จิตวิทยาการรู้คิด (Cognitive) 4. มนุษยนิยม (Humanistic) 5. จิตชีวะวิทยา (Biopsychological) 6. สังคมวัฒนธรรม (Social-cultural) โดยนักจิตวิทยาได้อธิบายบุคลิกภาพของมนุษย์ ด้วยทฤษฎีบุคลิกภาพมากมายหลายทฤษฎี ทฤษฎีเหล่านี้ทำหน้าที่เปรียบเสมือนจิ๊กซอว์ที่ล้วนช่วยกันอธิบาย ทำให้เราเข้าใจบุคลิกภาพของมนุษย์ ความผิดปกติคืออะไร นักจิตวิทยานิยามคำว่าผิดปกติไว้อย่างไร ใช้เกณฑ์อะไรในการแบ่งแยก อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้บุคคลมีความผิดปกติทางจิต แล้วเราจะช่วยบุคคลผู้มีความผิดปกติทางจิตอย่างไร นักจิตวิทยาบางกลุ่มทำงานกับจิตแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ พยาบาล โดยมุ่งค้นคว้า ค้นหากระบวนการบำบัดทางจิต เพื่อให้ความช่วยเหลือบุคคลที่มีความทุกข์หรือมีความผิดปกติทางจิต จึงถือกำเนิดเป็นสาขาจิตวิทยาการปรึกษา (Counseling Psychology) และจิตวิทยาคลีนิก (Clinical Psychology) นักจิตวิทยากลุ่มนี้ทำการบำบัดผู้คนด้วยวิธีการต่างๆ บ้างใช้แนวคิดจิตวิเคราะห์เพื่อค้นหาปมในอดีต บ้างใช้การพูดคุยที่นุ่มนวลเพื่อให้ผู้มีความทุกข์รับรู้ว่ามีคนเข้าใจอยู่ นักจิตวิทยาบางกลุ่มศึกษาพฤติกรรมในองค์กรหรือบริษัท เพื่อค้นหาว่าองค์กรที่ดีเป็นเช่นไร และต้องบริหารองค์กรอย่างไร เพื่อให้บุคคลทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นักจิตวิทยาเหล่านี้ล้วนอยู่ในสาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ (Industrial and Organizational Psychology) จิตวิทยาสังคม (Social Psychology) พยายามที่จะศึกษาอิทธิพลของสังคม อิทธิพลของกลุ่มที่ส่งผลต่อกระบวนการคิด ความรู้สึก อารมณ์และพฤติกรรมของมนุษย์ รวมทั้งปฏิสัมพันธ์ของบุคคลที่มีต่อสังคม สาขาจิตวิทยาพัฒนาการ (Developmental Psychology) ศึกษาพัฒนาการทุกช่วงวัยในด้านต่างๆ เช่น ด้านร่างกาย อารมณ์ ความคิด สังคม บุคลิกภาพ วิธีการเลี้ยงเด็ก วิธีการดูแลผู้สูงอายุ และวิธีการจัดการของบุคคลที่อยู่ในช่วงรอยต่อแห่งวัย นอกจาก 4 สาขาสำคัญนี้แล้ว จิตวิทยายังมีศาสตร์แห่งการเรียนรู้แตกแขนงออกไปด้านต่างๆอีกมากมาย ทางสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association: APA) ได้แบ่งศาสตร์ทางด้านจิตวิทยาออกเป็น 56 สาขา อาทิ จิตวิทยาทั่วไป (General Psychology) จิตวิทยาการสอน (Teaching of Psychology) จิตวิทยาการทดลอง (Experimental Psychology) ประสาทวิทยาพฤติกรรม (Behavioral Neuroscience) จิตวิทยาการศึกษา (Educational Psychology) จิตวิทยาคลีนิก (Clinical Psychology) จิตบำบัด (Psychotherapy) จิตวิทยาสุขภาพ (Health Psychology) จิตวิทยาสื่อ (Media Psychology) การเสพติด (Addictions) จิตวิทยากีฬา (Sport Psychology) การวิเคราะห์พฤติกรรม (Behavior Analysis) จิตวิทยาผู้บริโภค (Consumer Psychology) ศาสตร์ทางด้านจิตวิทยา จึงเป็นสิ่งต่างๆที่อยู่ใกล้ชิดและล้อมรอบตัวเราอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่เราจะรู้จัก สังเกตเห็นและนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสมหรือไม่ Psychology is all around. |
ArchivesCategories |