เขียนโดย พงศ์มนัส บุศยประทีป
หลายๆ ท่านคงเคยได้ยิน หรือเคยเห็นตามภาพยนตร์ว่ามีอุปกรณ์ที่ต่อสายระโยงระยางเข้ากับคน และสามารถจับโกหกสิ่งที่บุคคลนั้นพูดได้ โดยเครื่องนั้นมีชื่อว่า “เครื่องจับเท็จ” หรือ “Polygraph” ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวนั้นมีการใช้งานอยู่จริงๆ ครับ ไม่ได้มีแค่ในหนัง แต่คำถามที่ตามมาคือเครื่องจับเท็จนั้นสามารถจับโกหกได้จริงหรือไม่ เพื่อที่จะตอบคำถามดังกล่าว เราต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกของเครื่องจับเท็จกันเสียก่อน ที่เราเห็นว่าเครื่องจับเท็จนั้นต่อสายระโยงระยางที่เครื่องจับเท็จต่อจากคนนั้น เพราะเครื่องจับเท็จต้องการตรวจความดันโลหิต ระดับชีพจร อัตราการหายใจ และปริมาณเหงื่อที่เกิดขึ้นขณะพูด ซึ่งค่าเหล่านี้จะมีความแตกต่างกันระหว่างคนที่โกหกกับคนที่พูดความจริง เพราะค่าดังกล่าวสามารถวัดถึงระดับความวิตกกังวล และความเครียดได้ หลายๆ ท่านอาจจะเริ่มสงสัยว่า แล้วเราจะวัดความวิตกกังวล และความเครียดไปทำไม สิ่งนั้นเกี่ยวอะไรกับการโกหก คำตอบก็คือเนื่องจากบุคคลที่โกหกนั้น มีความวิตกกังวล และความเครียดมากกว่าคนที่พูดความจริง เพราะบุคคลนั้นกลัวว่าจะถูกอีกฝ่ายจับได้ว่าโกหก พอวิตกกังวลหรือเครียดเมื่อไหร่ ความดันโลหิตก็จะสูงขึ้น ชีพจรก็จะเต้นเร็วขึ้น หายใจถี่ขึ้น และเหงื่อก็จะมากขึ้นกว่าตอนพูดคุยปกติ ดังนั้นเครื่องจับเท็จจำเป็นต้องวัดสองรอบ โดยรอบแรก ผู้ควบคุมเครื่องจะสอบถามเรื่องทั่วไปกับคนที่กำลังถูกจับโกหก ที่เป็นคำถามที่ตอบได้ง่ายๆ ไม่ต้องโกหก เช่น ตอนเช้าทานอะไรมา เพื่อวัดความดันโลหิต ระดับชีพจร อัตราการหายใจ และปริมาณเหงื่อที่เกิดขึ้นในภาวะปกติ และรอบหลังๆ จะปะปนด้วยการถามคำถามในเรื่องที่ต้องการจับโกหก หากค่าต่างๆ ที่ได้นั้นผิดไปจากปกติ ก็พอจะคาดการณ์ได้ว่าบุคคลนั้นกำลังโกหกอยู่ ฟังดูแล้วดูดีมีหลักการใช่ไหมครับ แต่อย่างไรก็ตามเครื่องนี้ไม่สามารถจับโกหกได้แม่นยำนัก เพราะคนเรามักจะตื่นเต้นเวลาต้องโยงสายกับเครื่องดังกล่าว และการถามคำถามโดยที่รู้ตัวว่าอีกฝ่ายกำลังจับโกหกตนเองอยู่นั้น ต่อให้กำลังพูดความจริงหลายๆ คนก็วิตกกังวลหรือเครียดอยู่ดี ผลที่ได้เลยออกมาผิดพลาดเยอะ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีบุคคลที่สามารถพูดโกหกได้แนบเนียน โดยไม่มีความวิตกกังวล หรือความเครียดใดๆ หรือที่เราเรียว่า “ลิ้นสองแฉก” อยู่ในโลกนี้ด้วย สรุปแล้วเครื่องนี้เลยไม่สามารถจับโกหกได้ ในปัจจุบันเครื่องจับโกหกยังมีการใช้งานอยู่บ้าง แต่ใช้เป็นเพียงอุปกรณ์ประกอบการสอบสวน ไม่สามารถใช้ยืนยันในขั้นศาลได้ว่าบุคคลดังกล่าวโกหกจริงหรือไม่. ที่มาของภาพประกอบ http://en.wikipedia.org/wiki/Polygraph |
Archives
February 2016
Categories |