้เขียนโดย พงศ์มนัส บุศยประทีป
ตอนนี้ไม่ว่าใครๆ ก็มีสมาร์ทโฟนติดตัว การสื่อสารในปัจจุบันนั้น โทรศัพท์เองก็อาจจะเป็นรองไปแล้ว เมื่อเทียบกับการสนทนาผ่านโปรแกรมแชทอย่าง Line, Facebook และ WhatsApp แต่การสื่อสารด้วยตัวหนังสือนั้นมีเรื่องที่ต้องระวังอย่างยิ่ง โดยเฉพาะตอนที่กำลังทะเลาะกัน หรือพยายามจะคืนดีกันผ่านทางแชท วันนี้เราจะมาคุยเรื่องนี้กันครับ เวลาคนเราสื่อสารกันนั้น เราไม่ได้ใช้กันแต่ภาษาพูด แต่เราใช้สิ่งที่เรียกว่า “ภาษากาย” ในการสื่อสารด้วย ไม่ว่าจะเป็น สีหน้า ท่าทางของอวัยวะส่วนต่างๆ รวมถึงน้ำเสียง และจังหวะในการพูด ซึ่งในการสื่อสารแบบเห็นหน้านั้น เราจะได้รับข้อมูลทั้งภาษาพูด และภาษากายพร้อมๆ กัน แตกต่างจากการสื่อสารทางไกล เช่น โทรศัพท์ที่เราจะได้ภาษาพูด ส่วนภาษากายเราจะส่งและรับรู้ได้ผ่านทางน้ำเสียง และจังหวะในการพูดแค่นั้น ส่วนการแชทนั้นเป็นการสนทนาที่ให้ข้อมูลน้อยที่สุด เพราะเราไม่สามารถส่งภาษากายทางแชทได้เลย ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการสื่อสารโดยไม่มีภาษากายคือการเข้าใจผิด ท่านเคยหรือไม่ว่า เวลาทะเลาะกันผ่านการแชทนั้น จากเรื่องเล็กๆ กลายเป็นเรื่องใหญ่บานปลายกว่าเดิม หรือตอนที่พยายามจะปรับความเข้าใจคืนดีกันผ่านแชท ไม่ว่าจะทำอย่างไร ก็ไม่สำเร็จ เผลอๆ กลายเป็นทะเลาะกันหนักกว่าเดิม สาเหตุที่เป็นแบบนี้เพราะตอนเราแชท เราไม่เห็นสีหน้า ท่าทาง หรือแม้แต่น้ำเสียง และจังหวะการพูดของอีกฝ่าย อย่างเช่นอีกฝ่ายพูดมาว่า “ก็ได้” เราอาจจะตีความว่าเขายอมเรา หรือเขากำลังจะเอาเรื่อง ซึ่งถ้าเราสื่อสารทางอื่น เราจะรู้ได้ทันทีว่าเขาหมายถึงแบบไหนผ่านทางสีหน้า และน้ำเสียงของเขา หรือถ้าเราพูดไปว่า “ฉันมันผิดเอง” ซึ่งถ้าเราใช้น้ำเสียงอ่อนๆ อีกฝ่ายจะรับรู้การสำนึกผิดของเรา แต่พอเราใช้การแชท อีกฝ่ายเลยคิดว่าเราประชดแทน หรือแม้แต่ความเงียบระหว่างการสนทนา ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากอินเทอร์เน็ตช้า หรืออีกฝ่ายเจอบางอย่างมาขัดจังหวะ ก็อาจจะถูกตีความไปต่างๆ นาๆ ได้ว่ากำลังโกรธ หรือไม่อยากคุยด้วย ดังนั้นหากท่านเล็งเห็นแล้วว่า การแชทแล้วยิ่งทำให้การทะเลาะเลวร้ายลง หรือปรับความเข้าใจอย่างไรก็ไม่ได้สักที อาจจะต้องนัดเจอกันสักครั้งล่ะครับ หรือโทรศัพท์หากันก็ได้ อย่างน้อยภาษากายจะทำให้เราเข้าใจกันและกันได้มากขึ้นอีกเยอะ. เขียนโดย พงศ์มนัส บุศยประทีป
ท่านผู้อ่านเคยไหมครับ ตอนที่ทะเลาะกับคนสำคัญรอบๆ ตัวท่าน ไม่ว่าจะเป็นคนรัก พ่อแม่ พี่น้อง หรือเพื่อนสนิท สถานการณ์เหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการแน่ๆ เพราะคนสำคัญของเรา เราก็ไม่อยากจะให้เขาเกลียดเรา และเราก็ไม่อยากจะเกลียดเขาด้วย แต่พอทะเลาะกัน แน่นอนว่ามันก็ต้องมีปากมีเสียง มีการถกเถียงกันเป็นธรรมดา หลายๆ ครั้ง ทั้งเราและอีกฝ่ายเหมือนพยายามที่จะคุยกันดีๆ พยายามจะใช้เหตุผล ใช้อารมณ์ให้น้อยที่สุด แต่ยิ่งพูดกันอารมณ์กับยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น กลายเป็นยิ่งทะเลาะกันใหญ่โต เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น คนเรานั้นเวลาเราพูดจา ถกเถียง หรือทะเลาะกันนั้น เราไม่ได้รับรู้อีกฝ่ายด้วยคำพูดเท่านั้น แต่เรารับรู้สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียงของอีกฝ่ายด้วย สิ่งที่ไม่ได้ออกมาเป็น “คำ” แต่สื่อความหมายได้นั้น เราเรียกกันว่า “ภาษากาย” นั่นเอง ท่านเลยจินตนาการว่ามีคนพูดกับท่านว่า “เชิญค่ะ” คนแรกพูดด้วยเสียงหวานๆ โค้งตัวให้ท่านน้อยๆ ยิ้มหวานๆ ให้ท่าน และผายมือไปยังสถานที่ที่เชื้อเชิญท่านไป กับอีกคนหนึ่งพูดด้วยเสียงตะคอก หน้าบึ้งให้ท่าน ใช้มือหนึ่งเปิดประตู และอีกมือชี้ให้ท่านออกไป แน่นอนว่าสถานการณ์แรกท่านจะตีความว่าเขาเชื้อเชิญอย่างเต็มใจ แต่อีกสถานการณ์เหมือนเขาจะอยากไล่ให้ท่านไปจากตรงนั้น เวลาเราถกเถียงกันก็เช่นกัน หลายๆ ครั้งคนเราลืมไปว่า สิ่งที่ตัวเองพูดถึงแม้จะมีเนื้อหาที่พยายามจะปรับความเข้าใจอย่างเต็มที่ แต่น้ำเสียงนั้นยังดุดัน หรือบางครั้งฟังแล้วเหมือนประชดประชันอีกฝ่าย ยกตัวอย่างเช่น หากมีฝ่ายหนึ่งพูดว่า “ฉันผิดเองล่ะ” หากคนแรกน้ำเสียงอ่อนๆ ก้มหน้าลงต่ำๆ เหมือนสำนึกผิด กับอีกคนหนึ่งพูดด้วยคำพูดเดียวกัน แต่ใช้น้ำเสียงแดกดัน ประชดประชัน ท่านคิดว่าแบบไหนที่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายคืนดีกันได้ง่ายขึ้นครับ ปัญหาส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะเราเองมักจะไม่รู้ตัวว่าเราทำสีหน้าอย่างไร แสดงท่าทางอย่างไร ตอนที่เรากำลังพูด โดยเฉพาะตอนที่เราโมโห แค่คุมสติไม่ให้พูดว่าร้าย ด่าทอ อีกฝ่ายก็ลำบากแล้ว การคุมสีหน้าท่าทางให้ดูสงบ ดูโอนอ่อน พร้อมจะประนีประนอมนั้นเลยเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก หากท่านกำลังโกรธใครใหม่ๆ ท่านลองส่องกระจกดูก็ได้ครับ แล้วท่านจะพบว่าสีหน้าของท่านนั้น ใครเห็นก็รู้สึกไม่ดี ไม่ใช่เพราะว่าท่านหน้าตาดีไม่ดีนะครับ แต่ใบหน้าของคนโกรธ เป็นใบหน้าที่ไม่ว่าใครก็ไม่ชอบ น้ำเสียงเป็นอีกสิ่งที่คุมได้ยากยิ่ง เวลาโกรธกันนั้น ขนาดพูดด้วยเนื้อหาธรรมดาแบบยังฟังแล้วทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดีได้ ดังนั้นเวลาคนทะเลาะกัน เนื้อหาที่พูดกันบางครั้งก็วนไปวนมา แต่ยิ่งฟัง อารมณ์ยิ่งขึ้น ปัญหายิ่งบานปลาย แล้วเราควรจะทำอย่างไรดี... การรู้ตัวในเรื่องภาษากายนี้ตอนที่ทะเลาะกับคนอื่นก็พอจะช่วยได้บ้าง พยายามควบคุมภาษากายของเรา น้ำเสียงของเราไม่ให้กระแทกกระทั้น ไม่ให้ประชดประชัน ไม่ให้ดูเหน็บแนม หรือแม้แต่น้อยอกน้อยใจ พยายามอย่าสร้างความรู้สึกไม่ดีให้แก่อีกฝ่าย แต่ตอนที่อารมณ์เราไม่ดีจริงๆ โกรธจริงๆ นั้น การควบคุมยิ่งทำได้ยาก ดังนั้นหากเราไม่พร้อมที่จะปรับความเข้าใจ หรือคืนดีกับใคร การขอเวลาอีกฝ่าย ให้ไปสงบสติอารมณ์นั้นน่าจะเป็นหนทางที่ดีกว่า พอเราสงบสติอารมณ์ของเราได้แล้ว การควบคุมภาษากายในแบบที่เป็นมิตรมากขึ้นจะทำได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่แบบที่ยิ่งมองยิ่งทำให้อีกฝ่ายโมโหหรือน้อยใจ อดใจรอสักนิดดีกว่าแก้ไขตอนที่ไม่พร้อมแล้วทำให้ปัญหาแย่กว่าเดิมจริงไหมครับ อย่าลืมว่าคนเรานั้น เวลาเราพูดไม่ใช่แค่ปาก แต่สีหน้า ท่าทางของเรานั้น พูดไปพร้อมๆ กับเรา. เขียนโดย พงศ์มนัส บุศยประทีป
พอพูดถึงคำว่า “นักจิตวิทยา” หลายๆ ท่านอาจจะนึกถึงตัวละครในภาพยนตร์ที่สามารถอ่านใจคนได้ว่าอีกฝ่ายกำลังคิดอะไรอยู่ เดาได้ถูกว่าคนนั้นจะทำอะไรในอนาคต โดยที่อีกฝ่ายไม่ต้องพูดอะไรเลย หรือไม่ต้องพูดสิ่งนั้นตรงๆ นักจิตวิทยาแค่ดูท่าทาง สีหน้า สายตา หรืออากัปกิริยาอื่นๆ ประกอบก็อ่านใจอีกฝ่ายได้แล้ว แต่ในความเป็นจริงแล้ว นักจิตวิทยาไม่สามารถอ่านใจคนได้ถึงระดับนั้น โดยเฉพาะในการอ่านใจในแบบภาพยนตร์ที่นักจิตวิทยาเหมือนว่าได้ยินเสียงในใจของอีกฝ่ายเลยว่าเขาคิดเป็นประโยคอะไรอยู่ แบบนั้นยังถือว่าเกินความจริงไปเยอะทีเดียว ถ้าถามว่านักจิตวิทยาพอจะอ่านใจคนได้หรือไม่ คำตอบคือบางคนอาจจะพอจะอ่านได้บ้าง แต่จะอ่านกันอย่างไร และอ่านได้มากแค่ไหนนั้น ในวันนี้เราจะมาพูดคุยถึงเรื่องนี้กัน ก่อนอื่น อย่างที่เราคุยกันไปแล้วในบทความ จิตวิทยาคืออะไรกันแน่ ( http://www.psychola.net/applied/-what-is-psychology ) ว่าจิตวิทยานั้นก็มีหลากหลายสาขา เช่น จิตวิทยาพัฒนาการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมที่แตกต่างกันของคนในแต่ละวัย จิตวิทยาการปรึกษานำความรู้ทางจิตวิทยามาประยุกต์ช่วยเหลือบุคคลที่มีความทุกข์ ถึงแม้ว่าจิตวิทยานั้นจะมีเป้าหมายในการทำนายพฤติกรรมมนุษย์อยู่ด้วย แต่เราก็ไม่ได้ทำนายจากสีหน้าท่าทางแบบในหนัง แต่เราทำนายจากสิ่งอื่นๆ ด้วย เช่น เราทำนายว่าความเครียดที่สูงขึ้น จะทำให้คนกินอาหารมากขึ้น หรือจำนวนคนที่มากขึ้น ลดพฤติกรรมการช่วยเหลือผู้อื่นของคน ดังนั้นการอ่านใจหรือการทำนายพฤติกรรรมจากสีหน้าท่าทางจึงได้รับการศึกษาจากนักจิตวิทยาเพียงบางสาขาเท่านั้น นักจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับบางอาชีพจำเป็นต้องมีทักษะในการอ่านใจ เช่น นักจิตวิทยาการปรึกษาต้องมีทักษะในการสังเกตสีหน้า และท่าทางของผู้รับการปรึกษา เช่น การที่นักจิตวิทยาถามคำถามบางอย่าง แล้วผู้ตอบไม่ตอบนั้น เพราะอะไร เขามีสีหน้าอึดอัด ลำบากใจ หรือมีเหตุผลอื่นๆ ซ่อนอยู่หรือไม่ ในอีกวงการที่สำคัญคืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม เช่น ผู้ใช้จิตวิทยาในการสอบสวน เช่น ใช้ดูว่าจำเลยกำลังโกหกอยู่หรือไม่ขณะที่พูด หรือในวงการทหาร ที่ใช้จิตวิทยาในการดึงข้อมูลมาจากเชลยสงคราม แต่ก็ต้องบอกไว้ก่อนว่า อ่านใจที่ว่าคือการคาดการณ์สิ่งที่อีกฝ่ายน่าจะจะกำลังคิดเพียงคร่าวๆ เท่านั้น นักจิตวิทยาที่ทำงานในวงการดังกล่าวอาจจะรู้แค่คร่าวๆ ว่า อีกฝ่ายกำลังโกหก หรือปิดบังอะไรบางอย่าง แต่การที่จะรู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไรนั้นต้องขึ้นอยู่กับผู้อ่านใจด้วยว่า รู้จักผู้ที่ถูกอ่านใจมากน้อยแค่ไหน มีข้อมูลเรื่องที่กำลังต้องการอ่านใจมากน้อยแค่ไหน การอ่านใจแบบที่รู้ว่าอีกฝ่ายพูดอะไร เดาออกเป็นประโยค เป็นเรื่องเป็นราวแบบในภาพยนตร์นั้นยังถือว่าห่างไกลจากความเป็นจริงอย่างมาก และจนถึงทุกวันนี้ในแวดวงวิทยาศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นจิตวิทยา และศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับสมองและระบบประสาท ก็ยังไม่สามารถอ่านใจมนุษย์ได้ละเอียด และแม่นยำได้ขนาดนั้น แม้กระทั่งเครื่องจับเท็จ (Polygraph) ก็ไม่ใช่เครื่องมือที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถจับโกหกได้อย่างแม่นยำ อย่างไรก็ตามนักจิตวิทยายังคงให้ความสำคัญและศึกษาเกี่ยวกับ “ภาษากาย” หรือกิริยา ท่าทาง น้ำเสียง หรือสิ่งต่างๆ ที่ไม่ได้พูดออกมาเป็นภาษาหรือคำพูด ว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นกุญแจที่สามารถไขได้ว่าบุคคลนั้นแท้จริงแล้วคิดอย่างไร เช่น ในตอนนี้มีงานวิจัยมากมาย ที่พยายามค้นหาว่ากิริยา ท่าทาง อะไรบ้าง ที่กำลังบ่งบอกว่าบุคคลนั้นกำลังโกหก ถึงเราก็ยังไม่สามารถจับโกหกใครได้ 100% และการจับโกหกนั้นต้องใช้การฝึกฝน และประสบการณ์ และไม่มีเทคนิคใดที่ดีที่สุด เพราะคนเรานั้นมีความแตกต่างกันไป แม้ว่าจิตวิทยาจะเป็นศาสตร์ที่มีมานานแล้ว แต่เราต่างรู้กันดีกว่าจิตใจมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่ซับซ้อนอย่างยิ่ง การอ่านใจคนเลยเป็นเรื่องที่ยากเย็นไม่น้อยเลยทีเดียว แม้ว่าตอนนี้การอ่านใจคนอาจจะเป็นแค่เรื่องในภาพยนตร์ แต่เช่นเดียวกับที่คนสมัยก่อนไม่คาดคิดว่ามนุษย์จะบินได้ ไปอวกาศได้ หรือมีคอมพิวเตอร์ที่ใส่กระเป๋ากางเกงได้ ในอนาคตต่อไป จิตวิทยาอาจจะพัฒนาจนสามารถอ่านใจคนจริงๆ ได้ในสักวันก็เป็นไปได้. เขียนโดย พงศ์มนัส บุศยประทีป
หากพูดคำว่า “จิตวิทยา” หลายๆ ท่านน่าจะเคยได้ยินคำนี้กันบ่อยๆ แต่อาจจะยังไม่เห็นภาพชัดเจนว่าแล้วจิตวิทยาคืออะไรกันแน่ โดยบางท่านอาจจะคุ้นเคยว่าจิตวิทยาเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการรักษาคนบ้า รักษาอาการทางจิต หรือจิตวิทยาเกี่ยวข้องเกี่ยวกับการอ่านใจคน แต่ในความเป็นจริงแล้วนั่นเป็นเพียงของส่วนเล็กๆ ของจิตวิทยาเท่านั้น แล้วแท้จริงแล้วจิตวิทยาคืออะไร วันนี้เราจะมาคุยเรื่องนี้กัน จิตวิทยานั้น มีความหมายตามชื่อ คือการศึกษาเกี่ยวกับ “จิต” เช่นเดียวกับ ชีววิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับ “ชีวะ” หรือสิ่งมีชีวิต หรือรังสีวิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับรังสี หลายๆ ท่านคงเริ่มสงสัยต่อว่า แล้ว “จิต” หมายถึงอะไร คำว่า “จิต” หรือจิตใจนั้น หมายถึงสิ่งที่ควบคุมให้เราทำสิ่งต่างๆ ท่านลองนึกว่าร่างกายของท่านคือหุ่นยนต์ หากไม่มีอะไรมาควบคุม ต่อให้มีไฟฟ้าหรือพลังงาน หุ่นยนต์ตัวนั้นก็ได้แต่ยืนนิ่งๆ แต่เมื่อไรก็ตามที่มีคนมาควบคุม หุ่นยนต์ตัวนั้นจึงจะเคลื่อนไหว มนุษย์ก็เช่นกัน โดยสิ่งที่คอยสั่งให้เราทำอะไรต่ออะไร ก็คือจิต หรือความคิดของเรานั่นเอง จิตวิทยานอกจากจะศึกษาเกี่ยวกับความคิด ที่คอยควบคุมให้เราทำสิ่งต่างๆ แล้ว จิตวิทยายังศึกษาความคิดที่อยู่ในใจที่ไม่แสดงออก รวมถึงอารมณ์และความรู้สึกของเราอีกด้วย นอกจากนี้จิตวิทยายังศึกษาเกี่ยวกับการกระทำหรือการเคลื่อนไหวหรือการแสดงออกมาภายนอก โดยทั้งความคิด อารมณ์ ความรู้สึก และการกระทำนั้น เราเรียกรวมกันว่าคือ “พฤติกรรม” สรุปสั้นๆ แล้วจิตวิทยาก็คือศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์นั่นเอง พฤติกรรมของมนุษย์นั้นมีมากมายมหาศาล ตั้งแต่ เดิน นอน พูด กิน ทำงาน นอกจากนี้อารมณ์ และความรู้สึกก็มีไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นดีใจ เสียใจ โกรธ ผิดหวัง เศร้า และอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้นจิตวิทยาเลยมีหัวข้อให้ศึกษามากมาย คำถามต่อมาคือ แล้วเราจะศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ไปเพื่ออะไร คำตอบแรกก็คือเพื่อทำให้เราเข้าใจ และสามารถอธิบายกลไกต่างๆ ของพฤติกรรมมนุษย์ได้ เช่น เรื่องพฤติกรรมการกิน เราสามารถอธิบายได้ว่าความรู้สึกหิวของมนุษย์นั้น เกิดขึ้นจากการที่ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ รวมถึงปริมาณอาหารที่อยู่ในระบบทางเดินอาหารมีน้อย หรืออธิบายได้ว่าการที่คนเราเลียนแบบคนอื่นนั้น เพราะเราต้องการเป็นที่ยอมรับจากบุคคลรอบตัว เราไม่อยากเป็นคนที่แปลกประหลาด เพราะตามธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคมแล้ว การถูกคนรอบตัวกีดกันไม่ยอมรับเป็นพวกเดียวกัน เป็นสิ่งที่ทำให้เราคนเรารู้สึกไม่ดีอย่างมาก หลังจากที่เราศึกษาเข้าใจพฤติกรรมต่างๆ กันไปแล้ว สิ่งต่อมาที่เราจะได้จากการศึกษาคือ เราสามารถทำนายว่าพฤติกรรมจะเกิดขึ้นเมื่อไร หรือมีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้เกิดหรือไม่เกิดพฤติกรรมดังกล่าว เช่น เราสามารถใช้ระดับความความวิตกกังวลทำนายเกี่ยวกับภาวะนอนไม่หลับได้ โดยคนที่ขี้กังวล มักจะพบกับปัญหาเรื่องนอนไม่หลับบ่อยๆ หรือเราสามารถทำนายความก้าวร้าวหรือการใช้กำลังทะเลาะวิวาทด้วยความแตกต่างทางเพศ เพราะโดยเฉลี่ยผู้ชายมักจะก้าวร้าวมากกว่าผู้หญิง หลังจากที่เราทำนายได้ว่าพฤติกรรมใด จะเกิดหรือไม่เกิด ขั้นต่อมาคือเราสามารถนำไปควบคุม หรือนำไปประยุกต์ใช้ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดหรือไม่เกิดพฤติกรรมต่างๆ เช่น เราสามารถควบคุมให้คนมีความเครียดน้อยลง ด้วยการให้คนหมั่นฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เพราะเรารู้แล้วว่าอาการตึงของกล้ามเนื้อนั้น ส่งผลให้คนเกิดความเครียดได้เช่นกัน หรือเราควบคุมให้คนอู้งานน้อยลง ด้วยการบอกปริมาณชิ้นงานที่ทำเสร็จของพนักงานละคน เพราะเรารู้ว่าการที่เราบอกชิ้นงานเป็นภาพรวมของทั้งแผนก จะยิ่งทำให้พนักงานอู้งานมากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมของมนุษย์เป็นหัวข้อที่มีสิ่งให้ศึกษามากมาย จิตวิทยาเองก็เลยมีหลากหลายสาขา เช่น จิตวิทยาพัฒนาการที่ศึกษาพฤติกรรมที่แตกต่างกันในระหว่างวัยเพราะเด็กก็มีพฤติกรรมบางอย่างแตกต่างจากผู้ใหญ่ หรือจิตวิทยาบุคลิกภาพที่ศึกษาเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างบุคคล เพราะคนแต่ละคนก็ใช่ว่าจะทำอะไร คิดอะไรเหมือนๆ กัน หรือจิตวิทยาสังคมที่ศึกษาพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไป เพราะการที่มีคนอื่นๆ อยู่รอบตัว เพราะคนเรานั้นอยู่คนเดียวก็มีพฤติกรรมอย่างหนึ่ง อยู่กับคนอื่นก็อาจจะมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป นอกจากนี้ยังมีการนำจิตวิทยาไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ ที่นำความรู้ทางจิตวิทยาไปใช้ประยุกต์ในการทำงานว่าจะทำอย่างไรให้พนักงานทำงานออกมาได้มีประสิทธิภาพที่สุด และยังมีความสุขในการทำงานอีกด้วย หรือจิตวิทยาการปรึกษาและจิตวิทยาคลินิก ที่นำหลักการทางจิตวิทยาไปประยุกต์ใช้เพื่อช่วยเหลือคนที่มีปัญหาด้านความทุกข์ ความเศร้า ปัญหาทางจิตใจอื่นๆ รวมถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับทางจิต ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าการรักษาคนผิดปกติทางจิต เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ในจิตวิทยาเท่านั้น ส่วนเรื่องการอ่านใจคนที่เราพูดถึงไปในตอนต้นนั้น จริงอยู่ว่าเป็นความใฝ่ฝันของมนุษย์ แต่ในปัจจุบัน เรายังไม่มีความรู้หรือเทคโนโลยีใดทางจิตวิทยาหรือศาสตร์อื่นๆ ที่จะอ่านใจของคนได้ เราสามารถอ่านท่าทาง การแสดงสีหน้า หรือน้ำเสียง เพื่อคาดเดาสิ่งที่คนคิดในใจได้บ้าง แต่การอ่านใจแบบในภาพยนตร์นั้น ยังคงเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ดังนั้นต่อให้เป็นนักจิตวิทยาก็ไม่สามารถอ่านใจคนได้ เมื่ออ่านถึงตรงนี้ คงจะพอทำให้ท่านเห็นภาพที่กว้างขึ้นจิตวิทยา เรามาลองสังเกตรอบๆ ตัวกันดีกว่า ว่ามีอะไรบ้างที่สามารถเป็นโจทย์ให้จิตวิทยาศึกษาได้บ้าง แล้วท่านจะพบว่าจิตวิทยานั้นเป็นศาสตร์ที่น่ารู้ไม่น้อยเลยทีเดียว. เขียนโดย พงศ์มนัส บุศยประทีป
เป็นเรื่องปกติที่บางครั้งเวลาเรามีความทุกข์ หรือรู้สึกซึมเศร้า เราจะไม่อยากทำอะไรเลยสักอย่าง อยากนั่งเฉยๆ คิดถึงเรื่องที่กำลังทุกข์ใจอยู่แบบนั้น แค่คิดจะลุกไปทำงาน หรือทำกิจวัตรอื่นๆ ที่จำเป็นก็เป็นเรื่องหนักหนาเอาการแล้ว เรื่องออกกำลังกายนั้นเลยแทบไม่ต้องพูดถึง แถมบางคนพอตกอยู่ในห้วงของความทุกข์ใจเมื่อไร เมื่อนั้นความอยากอาหารก็จะน้อยลงจนแทบจะไม่เหลือ ไม่อยากกินอะไรทั้งนั้นแม้ว่าจะมีของโปรดวางตรงหน้า พอทุกข์ใจแล้วกินอะไรก็ไม่อร่อยไปเสียหมด คนมีความทุกข์ร่างกายก็เลยอ่อนแอตามลงไปด้วย จริงอยู่ที่ช่วงเวลานี้เราไม่อยากทำ หรืออยากกินอะไรสักอย่าง อยากจะรอให้ความทุกข์ผ่านไปก่อนแล้วค่อยว่ากัน หลายๆ คนละเลยการใส่ใจดูแลร่างกายเพราะคิดว่าต่อให้ร่างกายแข็งแรงไป ก็ไม่ได้ช่วยให้ความทุกข์นั้นผ่านไปเสียหน่อย แต่ช่วงเวลาที่เราทุกข์นี่แหละครับที่เราควรจะดูแลร่างกายตนเองให้มากที่สุด หลายๆ ท่านอาจจะคิดว่าเรื่องของจิตใจและเรื่องของร่างกายนั้นเป็นสิ่งที่แยกกันต่างหาก ทุกข์ใจไม่เกี่ยวกับทุกข์กาย และทุกข์กายก็ไม่เกี่ยวกับทุกข์ใจ แต่ในความเป็นจริงแล้วกายและใจเป็นสิ่งที่ตัดไม่ตายขายไม่ขาด ตัวอย่างง่ายๆ คือเวลาเราป่วยหนักๆ ก็ยากที่เราจะมีความสุขในช่วงนั้นจริงไหมครับ ไม่ว่าจะเป็นไข้ ปวดหัว ปวดท้อง หรือเจ็บป่วยส่วนใดก็ล้วนแต่ทำให้เราทุกข์ทรมาน ต่อให้ไม่มีปัญหาเรื่องงานเรื่อง เรื่องเรียน เรื่องความรักมากวนใจในตอนนั้น แต่ก็ยากที่จะมีความสุขในภาวะเจ็บป่วย โบราณเขาถึงบอกว่า “การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ” ร่างกายกับจิตใจของคนเรายังเชื่อมต่อกันมากกว่านั้น คนเรานั้นเวลาต้องฝืนใจทำอะไร เราต้องใช้พลังงานมากกว่าปกติพอสมควร ท่านลองนึกถึงตอนที่ท่านออกไปเที่ยวเล่น ทำกิจกรรมที่ชอบ กับตอนที่ท่านต้องทำงาน ท่านจะเห็นว่าบางครั้งการได้ทำอะไรที่ชอบถึงแม้จะใช้พลังงานมากกว่า เช่น เล่นกีฬา เล่นเกม เดินเที่ยว ที่ทำเท่าไหร่ร่างกายกับไม่รู้สึกอ่อนแรงเท่ากับตอนที่เราทำในสิ่งที่ไม่ชอบอย่างการนั่งทำงาน ลองนึกถึงตอนที่เราเดินชอปปิงตั้งเกือบห้าหกกิโล เรายังไม่รู้สึกเหนื่อยเท่าการเดินเพื่อให้ติดต่องานกิโลเมตรเดียว ความรู้สึกเหนื่อยที่เพิ่มขึ้นมาจากความเหนื่อยกายมันก็คือความ “เหนื่อยใจ” นั่นแหละครับ คนเรานั้นมีกลไกของร่างกายที่เป็นเหมือนแบตเตอรี่สำหรับทำสิ่งที่ฝืนใจอยู่ ภาษาทางจิตวิทยาเรียกว่า “self-regulation” โดยที่ผมเปรียบเป็นเหมือนแบตเตอรี่เพราะว่ามันมีวันหมดนั่นเองครับ พอเราฝืนใจไปสักพักเราจะเริ่มรู้สึกอ่อนล้า และพอถึงจุดๆ หนึ่งเราจะเริ่มทนไม่ไหวที่จะฝืนทำสิ่งเดียวกันต่อหรือสิ่งอื่นๆ ที่ต้องฝืนแล้ว หลายๆ ท่านอาจจะเคยเป็นแบบนั้นในวันที่มีงานมากกว่าปกติ หรือต้องเรียนหลายวิชาในวันเดียวกัน พอเราฝืนใจมากๆ แบตเตอรี่ตรงนี้ก็จะค่อยๆ หมด ทำให้เราทนฝืนใจอะไรต่อไม่ได้ หากเราต้องทำงานต่อในช่วงนั้นเราก็จะรู้สึกว่าไม่มีสมาธิ คิดอะไรไม่ออก และช่วงเวลานั้นใครจะมาขัดใจเราไม่ได้เชียว จะหงุดหงิดง่ายกว่าปกติมากๆ เพราะเราอยู่ในภาวะที่ทนอะไรไม่ค่อยไหวแล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือแบตเตอรี่ของกลไกดังกล่าวนั้น มีความสัมพันธ์กับระดับน้ำตาลในเลือดของเรา ถ้าเรากำลังหิวๆ ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เราจะทนฝืนใจอะไรต่อสิ่งต่างๆ ได้น้อยลงตามไปด้วย คนที่กำลังหิวเลยโมโหง่ายๆ หรือที่เรียกว่า “โมโหหิว” อย่างไรล่ะครับ ดังนั้นเวลาที่เรากำลังมีความทุกข์ กำลังซึมเศร้า ในช่วงเวลาที่เราไม่อยากทำอะไรสักอย่าง ถึงแม้ว่าเราจะไม่เจริญอาหารแค่ไหน ก็ขอให้กินข้าวกินปลาตามปกติ อย่างน้อยก็ควรจะกินให้ครบสามมื้อ อย่าปล่อยให้ร่างกายของเราหิว เพราะถ้าระดับน้ำตาลในเลือดของเรามีน้อยเท่าไหร่ พลังงานที่เราจะใช้ในการฝืนฮึดสู้กับความทุกข์จะยิ่งมีน้อยเท่านั้น ร่างกายและจิตใจของมนุษย์นั้นปกติแล้วมีกลไกในการฟื้นตัวทั้งจากการเจ็บป่วยทางกาย และจากความทุกข์ใจด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว แต่ทั้งร่างกายและจิตใจต่างมีก็อกของพลังงานที่ต้องใช้ร่วมกัน ถ้าเรากินน้อยไป ไม่ใช่แค่ร่างกายจะไม่มีแรง จิตใจของเราจะไม่มีแรงตามไปด้วย ดังนั้นช่วงเวลาที่เราทุกข์ใจควรจะเป็นช่วงเวลาที่เราดูแลร่างกายให้ดี เพราะตอนที่เราเจ็บป่วย จะลุกจะนั่งก็รู้สึกลำบากไปหมด ทำอะไรแต่ละอย่างก็ต้องฝืนทำ แบตเตอรี่ของเราจะพร่องลงอย่างรวดเร็วทั้งจากการฝืนกายและการฝืนใจ ภาวะแบบนั้นจะทำให้เราไม่มีแรงที่จะฟื้นตัวจากความทุกข์ที่เรามี นอกจากนี้ช่วงที่เราทุกข์กายเป็นช่วงที่เราควรจะหาโอกาสเล่นกีฬาสักหน่อย ใครๆ ก็รู้ว่าการเล่นกีฬาช่วยทำให้ร่างกายของเราแข็งแรง การเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอเป็นยาดีในการป้องกันโรคภัย ในช่วงเวลาที่เราทุกข์ใจ ขนาดร่างกายเราแข็งแรงดีเรายังรู้สึกแย่ ดังนั้นอย่าปล่อยให้โรคต่างๆ มาทำให้เรายิ่งรู้สึกแย่หนักขึ้นอีกจะดีกว่าครับ ข้อดีของการออกกำลังกายยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะการเล่นกีฬาบ่อยๆ จะทำให้ร่างกายของเรามีแรง ไม่อิดโรย ไม่โทรม ความรู้สึกสดชื่น กับความรู้สึกห่อเหี่ยวของจิตใจนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความทุกข์ความสุขที่เกิดภายในใจของเราเพียงอย่างเดียว แต่เวลาที่สมองของเราจะตัดสินว่าตัวเรากำลังสดชื่นแจ่มใสแค่ไหน สมองพิจารณาทั้งร่างกายและจิตใจไปพร้อมๆ กัน หากร่างกายของเรารู้สึกกระปรี้กระเปร่า สมองของเราก็ตีความให้เรารู้สึกสดชื่นตามไปด้วย ถึงแม้ว่าการออกกำลังกายจะทำให้เรารู้สึกเหนื่อย แต่พอเราหายเหนื่อยแล้วร่างกายของเราจะรู้สึกดีกว่าการที่เรานั่งซึมเฉยๆ มากเลยทีเดียวครับ ดังนั้นในช่วงที่ทุกข์ใจ ฝืนตัวเองมาออกแรงสักหน่อย เอาแค่พอให้ร่างกายได้ขยับบ้าง ไม่รู้สึกว่าตนเองมีเรี่ยวแรงขึ้นบ้าง สิ่งนี้จะช่วยทำให้เรารู้สึกดีขึ้นมากทีเดียว สรุปแล้ว ถ้าใจกำลังเป็นทุกข์ และไม่รู้จะเริ่มแก้จากตรงไหน ทำให้ “กายเป็นสุข” ก่อน อย่าปล่อยให้กายป่วย ทรุดโทรม และท้องหิว เพราะนอกจากจะทำให้เราขาดแรงกายแล้ว แรงใจก็ลดน้อยลงไปด้วย ถ้ากายแข็งแรง ใจก็จะมีพลังฝ่าฟันความทุกข์ให้ผ่านไปได้ในไม่ช้า. |
Archives
February 2016
Categories |