เมื่อไม่กี่วันก่อนมีคนมาถามผมเกี่ยวกับกองทุนกองหนึ่ง ซึ่งโฆษณาเอาไว้ว่าจะสร้างผลตอนแทนให้คนที่นำเงินมาลงทุนได้เดือนละเป็นสิบเปอร์เซนต์ (ซึ่งถ้าบวกลบคูณหารดูแล้ว เพียงแค่ไม่ถึงปี...ก็จะได้เงินกลับมาเท่าตัวนึงเลยทีเดียว) ฟังดูแล้วเป็นอะไรที่ดูน่าดึงดูดใจสุดๆ แต่ช้าก่อน!!! จำนวนผลตอบแทนที่มากมายขนาดนั้น ความเสี่ยงที่ตามมาจะขนาดไหนกันล่ะ? “ความเสี่ยงน้อยมากเลย เพราะบริษัทมีการนำไปลงทุนใน@#@!@$!@#!” คำตอบที่คนชักชวนมักจะตอบให้แก่ผู้ได้รับโอกาสอันดีเลิศประเสริฐศรีที่ขี้สงสัย โอ้โหหหหหหหหหหหห (แบบยาวๆ) มีการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อยๆ ผลตอบแทนเยอะๆ และที่สำคัญคือแทบไม่ต้องทำอะไรเลย (นอนจิบกาแฟและใช้ชีวิตแบบ Slow Life แบบสบายๆ สิ้นเดือนมาก็มีเงินลอยมาให้ใช้) แบบนั้นบนโลกใบนี้ด้วยหรือนี่!!! ก่อนที่ผลตอบแทนอันสูงส่งจะชักจูงจินตนาการของเราให้ไปไกลกว่านี้ ผมว่าลองมามองกันในโลกแห่งความจริงๆ กันดีกว่าครับ ลองมาคิดเล่นๆ ง่ายๆ ดูว่าถ้ามีผลตอบแทนที่สูง และความเสี่ยงต่ำขนาดนั้น ป่านนี้ นักลงทุน รวมไปถึงสถาบัน และองค์กรต่างๆ ที่มีความรู้เรื่องการลงทุนในระดับยอดเยี่ยม และมองหาโอกาสในการลงทุนอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ก็คงจะแห่เอาเงินไปต่อแถวลงทุนกันยาวเหยียดไปแล้ว อย่างธนาคารเองก็คงไม่มานั่งปล่อยกู้ให้เราในอัตราที่ปีนึงได้ไม่กี่เปอร์เซ็นต์หรอกครับ (เอามาลงทุนแบบนี้เดือนเดียวก็ได้เป็นสิบเปอร์เซ็นต์แล้ว...ปล่อยกู้ทั้งปียังได้ไม่ถึงเลย) สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะแนะนำให้ทำเวลาที่มีคนมาชักชวนให้ไปลงทุนในลักษณะที่ ผลตอบแทนสูง แต่ความเสี่ยงต่ำ คือ พยายามมีสติ ดูรายละเอียดเงื่อนไขต่างๆ ให้ละเอียดถี่ถ้วน และที่สำคัญคือให้ระวังการโดนหลอกเอาไว้ด้วยก็จะดีครับ จริงๆ แล้วเรื่องทำนองนี้ดูเหมือนจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่เรื่อยๆ มีทั้งที่ตั้งใจจะหลอกลวง หรือแบบที่ไม่ได้หลอก (แค่บอกไม่หมด)... และแม้ว่าจะมีการบอกกล่าว หรือตักเตือนให้ระแวดระวังกันมากแค่ไหน ไม่วายก็ยังมีคนตกเป็นเหยื่ออยู่ดีครับ! ปัญหาไม่ใช่เพราะคนที่ถูกหลอกไม่เคยรับรู้เรื่องราวเหล่านี้หรอกนะครับ บางคนอาจจะเคยได้ยิน หรือแม้แต่เคยตักเตือนคนอื่นให้ระวังด้วยซ้ำ แต่พอถึงคิวตัวเอง เมื่อถูกโน้มน้าวชักจูงด้วยข้อความที่น่าหลงใหล ประกอบกับข้อเสนอที่น่าสนใจ ทำให้สุดท้าย ความโลภ ก็ขึ้นมาบดบังวิจารณญาณ รวมไปถึงการตัดสินใจในที่สุด ซึ่งแม้แต่คนที่หนักแน่น และมีความเชื่อมั่นสูงก็ไม่แน่ว่าจะรอดไปได้เสมอ มีการทดลองทางจิตวิทยาของ Solomon Asch ที่ได้ทำการทดลองเรื่องการคล้อยตาม (conformity) โดยแบ่งคนออกเป็นกลุ่มๆ ในแต่ละกลุ่มจะมีแปดคน โดยที่เจ็ดคนจะเป็นหน้าม้าที่ผู้ทำการทดลองได้ตระเตรียมเอาไว้ จะมีแค่หนึ่งคนเท่านั้นที่เป็นผู้ร่วมทดลองตัวจริง โดยการทดลองจะให้สมาชิกทุกคนในกลุ่มตอบออกมาว่าเส้นตรง 3 เส้น (A, B และ C) เส้นไหนยาวที่สุด (ซึ่งเส้นที่ให้มาจะค่อนข้างชัดเจนว่าเส้นไหนยาวที่สุด) ซึ่งในช่วงแรกๆ หน้าม้าทุกคนจะเลือกคำตอบที่ถูกต้อง แน่นอนว่าผู้เข้าร่วมทดลองก็ตอบได้ถูกเช่นเดียวกัน แต่หลังจากนั้นหน้าม้าก็จะพร้อมใจกันเลือกตอบข้อที่ผิด เพื่อดูว่าผู้ร่วมการทดลองจะทำอย่างไร
ผลการทดลองปรากฎว่ากว่า 30% ของผู้เข้าร่วมการทดลองเลือกที่จะคล้อยตามคำตอบของคนส่วนใหญ่ (หน้าม้า) ซึ่งเป็นคำตอบที่ผิด ตรงนี้ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยครับว่า บ่อยครั้งที่การตัดสินใจของตัวเราเกิดจากความคล้อยตามคนอื่น ไม่ได้มาจากเหตุผลหรือวิจารณญาณของตัวเราเองเสมอไป ซึ่งตรงนี้แหละครับที่บรรดาคนที่ต้องการจะมาชักจูงเรามักจะใช้กัน บางคนอาจจะมาเป็นพวก (แบบหน้าม้าในการทดลอง) บางคนอาจจะอ้างอิงแหล่งข้อมูลที่ (ดู) น่าเชื่อถือเพื่อให้เรารู้สึกว่าคนอื่นๆ เขาก็ทำกัน ดังนั้นเวลาจะเลือกลงทุนใดๆ ก็ตาม อยากจะขอให้ทุกคนมีสติ รอบคอบ และตั้งอยู่บนความเป็นจริง เวลาเห็นตัวเลขหรือผลตอบแทนใดๆ ก็พยายามดูเหตุดูผลว่าเป็นอย่างไร อย่าให้การถูกโน้มน้าวจากบุคคลอื่น หรือความโลภมามีอิทธิพลชี้นำการลงทุนของเรา ไม่เช่นนั้นสุดท้ายก็อาจจะต้องเสียใจ source: คลิปการทดลองของ Asch : https://www.youtube.com/watch?v=TYIh4MkcfJA บทความที่แล้วที่เรามาทำความรู้จักกับจิตวิทยาปัญญา ว่า จิตวิทยาปัญญา คืออะไร ใช้ทำอะไรได้บ้าง และได้เกริ่นถึงการนำความรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาปัญญามาใช้ในการรักษาผู้ป่วยทางจิต
หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยิน หรือ รู้จัก ความคิดและพฤติกรรมบำบัด หรือที่รู้จักกันดีคือ Cognitive Behavioural Therapy (CBT) ไม่มากก็น้อยนะคะ คอลัมน์นี้จะเจาะลึกไปถึงการทำงานของ CBT กันนะคะ จากตัวอย่างคราวที่แล้ว ถ้ามีความมั่นใจในตนเองต่ำ อาจจะเป็นผลจาก ความคิดที่ว่า เราไม่เก่ง ไม่สวย เราทำไม่ได้หรอก ความคิดลบๆเหล่านี้จะทำให้เรามีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เราจะเริ่มหลีกเลี่ยงเหตุการณ์นั้นๆ ที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดี เช่น เลือกที่จะทิ้งโอกาสในการทำงานหรือการเรียน เพียงเพราะแค่คิดว่าเราทำไม่ได้ เราไม่มั่นใจในตัวเอง แล้วแบบนี้ CBT จะช่วยเราได้อย่างไร? อย่างแรก CBT จะทำให้ช่วยคุณค้นหา และ ตระหนักถึงปัญหาของคุณ และ แหล่งที่มาของปัญหา ขั้นตอนนี้อาจจะยากสักหน่อยนะคะ แต่มันจะทำให้คุณรู้ว่าปัญหาเกิดจากอะไร และ ถ้าคุณยังคิดแบบเดิมอยู่ พฤติกรรมของคุณจะเป็นอย่างไร จากนั้น CBT ก็จะโฟกัสที่พฤติกรรมปัจจุบันที่เกิดจากปัญหานั้นๆ ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนวิธีการคิด เรียนรู้และฝึก ให้มีความคิดที่ดีและอยู่บนความเป็นจริงมากขึ้น เช่น เราไม่มั่นใจในตัวเอง เราไม่เก่ง กลัวว่าจะพูดผิด กลัวว่าใครจะมองเราไม่ดี ไม่กล้าออกไปพรีเซ้นท์ในห้องประชุม หรือ ห้องเรียน เมื่อเรารู้ถึงปัญหาของเรา และ ตระหนักถึงผลลัพธ์ของมัน ว่ามันอาจจะทำให้เราไม่ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ได้คะแนนในวิชานั้นๆลดลง แล้วจะทำอย่างไรให้เรามีความมั่นใจมากขึ้นได้? เราอาจจะค่อยๆปรับทัศนคติเกี่ยวกับการพรีเซ้นท์งาน เช่น เราต้องเชื่อว่าเราทำได้ ไม่ต้องกลัวว่าจะผิด ถ้าผิดก็ถือว่าเป็นบทเรียนแล้วกัน การพรีเซ้นท์งานไม่ได้น่ากลัวอะไร และ เราอาจจะค่อยๆฝึก พรีเซ้นท์ให้เพื่อนกลุ่มเล็กๆฟังดูก่อน เมื่อเห็นว่าเราสามารถทำได้แล้ว เราไม่กลัวที่จะเผชิญหน้ากับมันแล้ว แล้วค่อยๆ ขยับไปเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น หลังจากนั้นเราก็จะค่อยๆ มีความมั่นใจในตัวเองเพิ่มขึ้นเอง CBT สามารถใช้ได้ในผู้ป่วย โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ ละอื่นๆอีกมากมาย บทความหน้าจะเป็นอะไรอย่าลืมติดตามกันนะคะ. |
Archives
February 2016
Categories |