เขียนโดย Phot Dhammapeera
เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าพฤติกรรมที่เรามีอยู่นั้นเกิดขึ้นมาจากอะไร? อะไรที่ทำให้เราคิด หรือ ทำในสิ่งที่เราอยู่ จริงๆแล้วสิ่งที่เราทำมันมีที่มานะ ไม่ว่าจะเป็น การที่เราสามารถจำหรือลืมสิ่งต่างๆได้ แก้ปัญหาโดยใช้วิธีต่างๆ หรือแม้กระทั่งการให้ความสนใจกับบทความนี้ที่คุณกำลังอ่านอยู่ งานวิจัยด้านจิตวิทยาปัญญา สามารถตอบคำถามพวกนี้ได้ค่ะ จิตวิทยาปัญญา หรือ จิตวิทยาการรู้คิด (Cognitive Psychology) คืออะไรกันนะ? จิตวิทยาปัญญา เป็นสาขาหนึ่งของจิตวิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับ กระบวนการทางจิต, การรับรู้ การเก็บ และใช้ข้อมูลของคนเรา ได้แก่ ความคิด, การใช้ภาษา การแก้ปัญหา, ความจำ, และ การเรียนรู้ ซึ่งได้ใช้แนวคิดการศึกษากระบวนการเหล่านี้มาจากสำนักการคิดพฤติกรรมนิยม (Behaviorism) แต่จะเน้นการค้นคว้ากับกระบวนการภายในที่ไม่สามารถมองเห็นได้ จิตวิทยาปัญญา ใช้ทำอะไร ความรู้ต่างๆเกี่ยวกับ จิตวิทยาปัญญา สามารถนำไปใช้กับจิตวิทยาสาขาต่างๆได้ เช่น จิตวิทยาการบำบัด (psychotherapy) จิตวิทยาการศึกษา (educational psychology) จิตวิทยาสังคม (social psychology) จิตวิทยาพัฒนาการ (developmental psychology) หรือแม้กระทั่ง ในเชิงเศรษฐศาสตร์ (economics) จากตรงนี้ยังอาจจะยังไม่ภาพเท่าไหร่ว่า จิตวิทยาปัญญา จะเกี่ยวข้องกับสาขาอื่นๆได้อย่างไรบ้าง ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่านำความรู้ทางด้านจิตวิทยาปัญญามาใช้อย่างหนึ่งก่อนแล้วกันนะคะ จิตวิทยาปัญญาสามารถนำไปใช้รักษาผู้ป่วยทางจิตได้โดยการใช้ Cognitive behavioural therapy (CBT) โดยใช้แนวคิดที่ว่า ความคิดของเราสามารถส่งผลต่อการกระทำของเราได้ เช่น ถ้าเราไม่มั่นใจในตัวเอง คิดว่าตัวเองไม่ค่า ไม่สามารถทำอะไรได้ เราก็จะทำไม่ได้ หรือ บางทีเราก็คิดไปก่อนซะแล้วว่าเราทำไม่ได้ ทั้งๆที่ยังไม่ได้ลองทำเลยด้วยซ้ำไป CBT จะช่วยเราเปลี่ยนความคิดที่เรามีต่อตัวเอง แทนที่จะคิดว่า เราไม่มีค่า ทำอะไรก็ไม่ได้ เปลี่ยนเป็น คิดว่าเราก็ทำได้นะ เราไม่ได้ไร้ค่าสักหน่อย พยายามที่จะเปลี่ยนความคิดที่ส่งผลกับพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น เท่านี้ ก็ทำให้เราสามารถมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น กล้าที่จะทำอะไรมากขึ้น มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปแล้วล่ะค่ะ บทความต่อไปจะมาเล่าถึงการทำงานของ CBT กันนะคะ มาดูกันค่ะว่าทำไมแค่ความคิดเปลี่ยนพฤติกรรมถึงเปลี่ยนไปด้วย. เขียนโดย ครูปฐม
สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน บทความนี้เป็นบทความแรกของผมบนเว็บไซต์ “Psychola.net” สำหรับบทความของผมจะเน้นไปที่การนำจิตวิทยามาประยุกต์ใช้ หรืออธิบายเกี่ยวกับเหตุการณ์ในเรื่องของเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเงินๆ ทองๆ นั่นแหละครับ ในตอนแรกผมคิดอยู่นานว่าจะเอาเรื่องไหนมาเขียนเป็นบทความเปิดฤกษ์ดี? แต่สุดท้ายก็คงต้องขอเริ่มด้วยเรื่องที่ผู้คนเดี๋ยวนี้ให้ความสนใจ ( หรือภาษาที่คนรุ่นใหม่พูดสั้นๆ ว่า ฮิต) มากที่สุดเรื่องหนึ่งก็ว่าได้ ซึ่งนั่นก็คือ “การลงทุนในหุ้น” นั่นเองครับ จะไม่ให้เรียกว่าฮิตกันได้ยังไงล่ะครับ เพราะเดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะไปไหนมาไหนก็จะเห็นคนรุ่นใหม่ๆ (รวมทั้งที่ไม่ใหม่แล้ว) เปิดมือถือขึ้นมาดูหุ้นกันซะจนชินตา เผลอๆ ในบทสนทนาหลายต่อหลายครั้งก็อาจจะมีเรื่องหุ้นเข้ามาเกี่ยวด้วยเป็นประจำ โดยบทความนี้ผมจะพาทุกท่านไปดูว่า จิตวิทยา และ การลงทุนในหุ้น นั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไร (จริงๆ แล้วสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับการลงทุนอื่นด้วยก็ได้เหมือนกันครับ) มีทฤษฎีการลงทุนที่อธิบายถึงความสำคัญของปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการลงทุน (ว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จขึ้นอยู่กับปัจจัยใดบ้าง) โดยแบ่งเอาไว้เป็น 3 ปัจจัย ได้แก่ เครื่องมือที่ใช้ตัดสินใจในการลงทุน (Indicators) การบริหารจัดการเงิน (Money Management) จิตวิทยา (Psychology) คิดว่าอันไหนสำคัญที่สุดครับ? ถ้าให้ตอบผมเชื่อว่าคำตอบที่ได้หลายคำตอบน่าจะตอบผมว่า “สำคัญทุกปัจจัยนั่นแหละ” ก็จริงครับ สำคัญทุกปัจจัยจริงๆ แต่ระดับความสำคัญก็ไม่เท่าเทียมกันไปซะหมดหรอกครับ ซึ่งตามทฤษฎีแล้วได้ให้น้ำหนัก เครื่องมือที่ใช้ในการลงทุน มีความสำคัญที่ 10% , การบริหารจัดการเงิน (Money Management) มีความสำคัญ 30% และจิตวิทยา (Psychology) มีความสำคัญถึง 60% จะเห็นได้ว่าทฤษฎีนี้ให้ความสำคัญกับปัจจัยในด้านจิตวิทยามากกว่าปัจจัยอื่นๆ ซึ่งตรงนี้หลายคนที่ลงทุนในหุ้นมาอยู่แล้วอาจจะมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นก็แล้วแต่วิจารณญาณ และวิธีการลงทุนของแต่ละคนครับ แต่จากประสบการณ์การลงทุนในตลาดหุ้นที่ผ่านมาของผมแล้ว ทำให้ผมเห็นด้วยกับทฤษฎีนี้ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว เพราะถ้าเรามาวิเคราะห์ดูให้ดีแล้วจะพบว่า ต่อให้เรามีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ (สามารถบอกช่วงการซื้อขายได้อย่างแม่นยำ) มากแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีการบริหารจัดการเงินลงทุนที่ดี (เช่น การซื้อหุ้นตัวนั้นทั้งหมดรวดเดียวเลย หรือการกู้ยืมเงินมาซื้อหุ้น) ก็อาจจะเกิดความเสี่ยงขึ้นได้ในอนาคตก็เป็นได้ครับ และต่อให้คุณบริหารจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว แต่ในด้านจิตวิทยาคุณมีปัญหา เช่น รู้สึกกลัวที่จะซื้อหุ้น (เมื่อเงื่อนไขการซื้อขายตรงตามแผนที่วางเอาไว้) ในช่วงตลาดขาลง หรือรู้สึกมั่นใจมากเกินไปในช่วงตลาดขาขึ้น ก็อาจจะทำให้คุณพลาดพลั้งได้เช่นเดียวกัน นี่คือประเด็นสำคัญ และมีน้ำหนักมากที่สุดในการลงทุนในหุ้น (และการลงทุนอื่นๆ) เลยก็ว่าได้ เพราะไม่ว่าจะมีเครื่องมืออันแสนวิเศษเพียงใด (ผมจะให้น้ำหนักปัจจัยนี้ 100% เลย ถ้าเจอเครื่องมือที่ไม่มีทางผิดพลาด) หรือมีการบริหารจัดการเงินที่ดีเยี่ยมแค่ไหน แต่ถ้าคุณไม่สามารถควบคุมจิตใจ ความกลัว ความโลภได้ ท้ายที่สุดการลงทุนนั้นก็คงจะไปไหนไม่ได้ (ดีไม่ดีอาจจะต้องขาดทุนเสียด้วยซ้ำ) เปรียบเสมือนกับคุณมีรถยนต์ supercar ที่สามารถวิ่งได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าขับไม่เป็น ก็ไม่สามารถที่จะเคลื่อนที่ไปไหนได้ไกลนั่นแหละครับ เห็นมั้ยละครับว่าจิตวิทยากับการลงทุนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก ในบทความต่อๆ ไป ผมจะพยายามเจาะลึกลงไปในทฤษฎีของจิตวิทยาที่เกี่ยวของกับเรื่องเงินๆ ทองๆให้มากขึ้น ถ้าใครสนใจบทความที่ผมเขียนก็รอติดตามกันได้เลยครับ แล้วคุณจะรู้ว่า... จิตวิทยามีอยู่ทุกที่จริงๆ. เขียนโดย Pim Nattanee Sukpreedee นักจิตวิทยาพัฒนาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กวัย 0-6 ปี www.pimandchildren.com
มีพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยที่ยังคิดว่าการตีเป็นเรื่องจำเป็น หรือว่ายังอินกับสุภาษิตที่ว่า "รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี" อยู่ ส่วนตัวครูพิมนั้น เลิกอินกับสุภาษิตนี้ไปนานแล้วค่ะ เพราะไม่ว่าจะเป็นตัวเองโดนตี หรือเห็นคนอื่นโดนตี ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเขาถูกกระทำด้วยความรักแต่อย่างใด ก็เลยงงๆ เหมือนกันว่า แล้วเด็กๆ จะเข้าใจเหรอว่า "แม่/พ่อ/ครู ตีเพราะรัก" คนรักกันเค้าไม่ทำให้เราเจ็บหรอกค่ะ จริงไหม? --------------------------------------- Darcia Narvaez ศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Notre Dame ได้ทำการรวบรวมงานวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับสาเหตุ และผลของการตีเด็ก ทั้งผลในระยะสั้น และระยะยาว บทความของเธอบอกเราว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่เลือกการตีเพื่อที่จะหยุดพฤติกรรมที่พวกเขาไม่ต้องการ และเพิ่มพฤติกรรมที่อยากให้เกิดขึ้น โดยพฤติกรรมที่มักทำให้เด็กๆ ถูกตีก็คือ 1) ไม่ทำตามคำสั่งในทันที (เช่นบอกให้ทำงานบ้าน อ่านหนังสือ ปิดโทรทัศน์) 2) ไม่ทำตามคำสั่งในระยะยาว (เช่นเรื่องที่เคยสั่งสอนไว้ก่อนหน้า หรือเรื่องที่เคยห้ามไว้) 3) แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว แม้ว่าการติดตามดูพฤติกรรมการตีจะเป็นเรื่องยาก เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่ได้ตีเด็กต่อหน้าคนแปลกหน้า (ในที่นี้คือนักวิจัย) แต่ก็มีนักวิจัยบางส่วนที่สามารถติดตามผลการวิจัยได้ โดยการสังเกตพฤติกรรมของผู้ปกครองกับเด็กเล็ก ในห้องปฏิบัติการที่จัดเตรียมไว้ให้ และการเก็บข้อมูลระยะยาว ผลจากการสังเกตและเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลานานพบว่า - การตีหรือการดุด่าของผู้ปกครอง ไม่ได้ช่วยลดความก้าวร้าวของเด็กลง และในความเป็นจริง เด็กที่ถูกตียังมีความก้าวร้าวเพิ่มมากขึ้น ทั้งในแง่ของจำนวนและระดับของความก้าวร้าว (พูดง่ายๆ ก็คือ ยิ่งถูกตี ก็ยิ่งก้าวร้าวมากขึ้นและบ่อยขึ้น หากวัดเป็นกราฟคือเพิ่มขึ้นจากตอนที่ยังไม่ถูกตีนั่นเองค่ะ-ครูพิม) - ในระยะยาว เด็กที่เคยถูกตี ก็ไม่ได้มีความก้าวร้าวลดลง แถมยังคาดการณ์ได้ว่า พวกเขาจะมีระดับความก้าวร้าวสูงขึ้นอีกด้วย ดังนั้นใครที่เข้าใจว่า ตีลูกแล้ว ในอนาคตเขาจะเข้าใจและไม่ทำผิดซ้ำอีกนั้น คุณเข้าใจผิดแล้วค่ะ (น่าเศร้ามาก) - ไม่ว่าเด็กที่ถูกตีจะมีพื้นนิสัยแบบใด เกิดในครอบครัวแบบใด หรืออยู่ในสังคมวัฒนธรรมใดก็ตาม ผลการศึกษาก็ออกมาตรงกันคือ การตี เพิ่มระดับความก้าวร้าวของเด็กทั้งในระยะสั้น และระยะยาวค่ะ เขียนโดย Pim Nattanee Sukpreedee www.pimandchildren.com
การกอด เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ครูพิมชอบมากค่ะ โดยเฉพาะเวลากอดเด็กเล็กๆ ทั้งด้วยความหมั่นเขี้ยวและเอ็นดู เวลากอดเด็กตัวนิ่มๆ นี่จะรู้สึกดีมาก เหมือนได้เติมพลัง ทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้นอีกเยอะเลย ครูพิมเองก็เชื่อว่า พ่อแม่ทุกคนรวมถึงใครก็ตามที่ได้มีโอกาสใช้เวลาอยู่กับเจ้าตัวเล็ก ย่อมอยากที่จะกอดจะหอมเป็นธรรมดา แต่ก็มีหลายๆ ครั้งค่ะ ที่การแสดงความรักอย่าง "การกอด" นั้น ถูกละเลยไปอย่างน่าเสียดาย บ้างก็เพราะไม่มีเวลา บ้างก็เพราะเขินอาย บ้างก็กลับไปคิดว่า การกอดจะทำให้ลูกกลายเป็นลูกแหง่หรือติดแม่ติดพ่อ ซึ่งในความเป็นจริงเรื่องการติดแม่กับเรื่องการกอดนี่เป็นคนละเรื่องเลยค่ะ เรามาต่อที่เรื่องของการกอดกันดีกว่าค่ะ คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไม่คะว่า การกอดนั้นไม่ใช่เพียงแค่เป็นการแสดงความรักเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กๆ อีกด้วยค่ะ ไม่ว่าจะเป็น - ทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่น มีความใกล้ชิดทางใจ ไว้ใจและรู้สึกปลอดภัย - ลดความเครียด เพราะเด็กๆ เองก็มีความเครียดตามช่วงวัยเช่นกันค่ะ ทั้งการเครียดจากความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของร่างกาย และความเครียดที่เป็นผลจากความสามารถที่จำกัด เช่น ยังเดินไม่เร็ว สื่อสารไม่ได้ ไปไหนมาไหนเองไม่สะดวก เป็นต้น - การกอดเป็นความรู้สึกที่อยู่ในจิตใต้สำนึก (ความรู้สึกเหมือนการอยู่ในท้องแม่) ดังนั้น การกอดเด็กๆ จะช่วยสร้างความรู้สึกผูกพันได้เป็นอย่างดีค่ะ - การกอดทำให้อารมณ์ดีและลดความรู้สึกก้าวร้าวลง ครูพิมแนะนำว่า ในเวลาที่เด็กๆ รู้สึกหงุดหงิด เริ่มมีกิริยาก้าวร้าว รุนแรง ผู้ใหญ่อย่างเราสามารถใช้การกอดในการระงับอารมณ์และลดพฤติกรรมก้าวร้าวที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ค่ะ เห็นประโยชน์ขนาดนี้แล้ว ทีนี้มาดูกันต่อค่ะว่า แล้วต้อง "กอดอย่างไร" ล่ะ ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นการกอดที่ "ทรงพลัง" เทคนิคมีเพียง 3 ข้อง่ายๆ ค่ะ 1) กอดแบบอกชนอก หรือหันหน้าเข้าหากัน การกอดแบบนี้ถูกจัดว่าเป็นการกอดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะทำให้เกิดความรู้สึกใกล้ชิด และด้วยตำแหน่งของการกอดแบบนี้ จะช่วยกระตุ้นการทำงานของต่อมไธมัส ซึ่งช่วยปรับสมดุลการทำงานของเม็ดเลือดขาว ซึ่งจะช่วยให้เรามีสุขภาพดีขึ้นอีกด้วย 2) กอดกันนานๆ ขึ้นอีกนิด มีการศึกษาพบว่า ระยะเวลาของการกอดที่ดีต่อร่างกายและความรู้สึกมากที่สุดอยู่ที่ 6 วินาที ฟังดูเหมือนจะนานนะคะ แต่การกอดกันนานๆ ก็ย่อมจะดีกว่าการกอดแบบรวดเร็วเหมือนขอไปทีไม่ใช่หรือ 3) กอดกันวันละ 6-10 ครั้ง ตรงนี้ผู้ปกครองหลายคนอาจจะบอกว่า ไม่มีเวลาหรอก หรือไม่ก็อาจจะคิดว่า บ่อยไปไหมคะ อันที่จริงแล้ว กอดยิ่งบ่อยก็ยิ่งดีค่ะ แต่หากว่าไม่รู้จะใช้โอกาสอะไรในการกอดดี ขอให้เริ่มที่กอดหลังตื่นนอน และกอดก่อนเข้านอนก่อนเลยค่ะ เท่านี้ก็ได้อย่างต่ำวันละ 2 ครั้งแล้ว และหากเป็นเด็กในวัยเรียน เราก็เพิ่มมาอีก 2 ครั้งจากการกอดก่อนไปเรียน และกอดหลังเลิกเรียน เห็นไหมคะ ว่าเราหาโอกาสกอดให้เป็นกิจวัตรได้ไม่ยากเลย อีกไม่กี่ครั้งที่เหลือ ครูพิมเชื่อว่าเราหาโอกาสได้แน่ๆ ค่ะ หรือถ้าไม่มีโอกาสพิเศษ เราก็ใช้โอกาส "อยากจะกอด" ก็ได้นะคะ ไม่ว่ากัน ด้วยเทคนิคง่ายๆ เพียง 3 ข้อนี้ คุณก็สามารถที่จะสร้าง "กอดที่ทรงพลัง" ให้กับเด็กๆ ได้แล้วหละค่ะ แล้วเราก็เตรียมรอดูได้เลยว่า กอดอันทรงพลังของเรานั้น จะส่งพลังอะไรไปให้เด็กๆ (และตัวเรา) ได้บ้าง...เชื่อเถอะค่ะว่า จะต้องมีแต่พลังของสิ่งที่ดีๆ เกิดขึ้นแน่นอน. เขียนโดย Pim Nattanee Sukpreedee www.pimandchildren.com
วันนี้เราจะมาพูดกันในเรื่องของสาเหตุที่ทำให้การตีไม่ได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมลูก และเพราะเหตุใด การตีจึงเป็นเรื่องต้องห้าม มาที่คำถามแรกกันก่อนนะคะว่า ทำไมตีเด็กแล้วพฤติกรรมที่เราต้องการจะหยุดหรือห้าม ถึงยังไม่หายไป นักจิตวิทยากลุ่มพฤติกรรมนิยม ได้ให้คำตอบไว้ว่า การทำโทษด้วยความเจ็บปวดนั้น จะได้ผลในระยะยาวก็ต่อเมื่อ การลงโทษนั้นเกิดขึ้นในทันทีทันใด หลังจากเกิดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เราจะไม่จับหม้อร้อนๆ อีกเลย เมื่อเราเคยเผลอไปโดนมันแล้วรู้ว่าร้อนมาก (ความร้อนทำให้เราเกิดความรู้สึกเจ็บปวดในทันทีหลังจากเราจับหม้อ) แต่กรณีการลงโทษเด็กนั้น มันเป็นไปได้น้อยมากที่เราจะทำการลงโทษได้ทันทีเมื่อเด็กทำอะไรสักอย่างที่เราไม่พึงพอใจ ที่พูดแบบนี้ ครูพิมไม่ได้หมายความว่างั้นก็ลงโทษทันทีสินะคะ เพราะต่อให้เราตียังไงก็ไม่ได้ผลอยู่ดี เนื่องจากเราไม่ได้ตัวติดกับเด็กตลอดเวลาขนาดนั้น และที่สำคัญคือ มีวิธีการอีกมากมายที่จะช่วยปรับพฤติกรรมของเด็กๆ ได้ โดยที่เราไม่ต้องใช้การตี ซึ่งส่วนนี้ครูพิมได้ทยอยนำมาฝากกันอยู่เป็นประจำอยู่แล้วนะคะ คำถามต่อมาคือ ทำไมการตีเด็กจึงควรเป็นเรื่องต้องห้าม Darcia ได้สรุปถึงผลเสียของการตีเด็กไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้ค่ะ - การตีทำลายความไว้วางใจ เด็กที่ถูกตีจะถอยกลับมาสร้างพื้นที่เล็กๆ ให้กับตัวเองและลดความสัมพันธ์กับผู้ที่ตีลง เมื่อเด็กมีความไว้วางใจน้อยลง ก็มีความเป็นไปได้ที่เขาจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมาต่อคนๆ นั้น โดยอาจจะเลือกที่จะแสดงความก้าวร้าวออกมาก่อนที่จะถูกกระทำด้วย - การตีทำลายสุขภาพจิต (ไม่น่าจะมีเด็กที่ถูกตีคนไหนรู้สึกดีหรือมีความสุขทางใจเพิ่มขึ้นหรอกจริงไหมคะ) - การตีเป็นการเพิ่มอัตราการกระทำผิดกฎหมายและการต่ออาชญากรรม (เช่นอาจจะทำให้เกิดเหตุทีรุนแรงต่อมาจากการตีนั้นๆ ) - การตีส่วนใหญ่เป็นลักษณะที่ดูเหมือนเป็นการทำร้ายร่างกายเด็กมากกว่าการอบรมสั่งสอน เพราะครูพิมเชื่อว่า พ่อ แม่ ครูและผู้ปกครองทุกๆ คน ไม่มีใครอยากที่จะทำร้ายเด็กหรือลูกๆ ของตัวเอง เพียงแต่ยังไม่ทราบว่าจะต้องอบรมสั่งสอนเขาด้วยวิธีใดก็เท่านั้น แต่ในวันนี้ครูพิมคิดว่าผลการวิจัยและเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลนี้ น่าจะเพียงพอแล้วที่จะทำให้เราหยุดคิดทุกครั้งก่อนที่จะทำการลงโทษใดๆ ในครั้งต่อไป สำหรับวิธีการต่างๆ ที่จะช่วยให้เราปรับพฤติกรรมของลูกๆ ได้อย่างง่ายดายและเป็นไปในทางบวก ครูพิมจะพยายามนำมาเผยแพร่ให้ทราบกันในโอกาสต่อๆ ไป ขอให้ติดตามกันได้ค่ะ ด้วยรัก ครูพิม |
Archives
February 2016
Categories |