psychola.net จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน

  • Home
  • Guidance
  • Applied
  • Movement
  • Books
  • About
  • Home
  • Guidance
  • Applied
  • Movement
  • Books
  • About

Applied
​จิตวิทยาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร

นักจิตวิทยาสามารถอ่านใจคนได้หรือไม่ (Psychologist is a Mind Reader?)

30/9/2015

Comments

 
เขียนโดย พงศ์มนัส บุศยประทีป


พอพูดถึงคำว่า “นักจิตวิทยา” หลายๆ ท่านอาจจะนึกถึงตัวละครในภาพยนตร์ที่สามารถอ่านใจคนได้ว่าอีกฝ่ายกำลังคิดอะไรอยู่ เดาได้ถูกว่าคนนั้นจะทำอะไรในอนาคต โดยที่อีกฝ่ายไม่ต้องพูดอะไรเลย หรือไม่ต้องพูดสิ่งนั้นตรงๆ นักจิตวิทยาแค่ดูท่าทาง สีหน้า สายตา หรืออากัปกิริยาอื่นๆ ประกอบก็อ่านใจอีกฝ่ายได้แล้ว

แต่ในความเป็นจริงแล้ว นักจิตวิทยาไม่สามารถอ่านใจคนได้ถึงระดับนั้น โดยเฉพาะในการอ่านใจในแบบภาพยนตร์ที่นักจิตวิทยาเหมือนว่าได้ยินเสียงในใจของอีกฝ่ายเลยว่าเขาคิดเป็นประโยคอะไรอยู่ แบบนั้นยังถือว่าเกินความจริงไปเยอะทีเดียว

ถ้าถามว่านักจิตวิทยาพอจะอ่านใจคนได้หรือไม่ คำตอบคือบางคนอาจจะพอจะอ่านได้บ้าง แต่จะอ่านกันอย่างไร และอ่านได้มากแค่ไหนนั้น ในวันนี้เราจะมาพูดคุยถึงเรื่องนี้กัน
ก่อนอื่น อย่างที่เราคุยกันไปแล้วในบทความ จิตวิทยาคืออะไรกันแน่ ( http://www.psychola.net/applied/-what-is-psychology ) ว่าจิตวิทยานั้นก็มีหลากหลายสาขา เช่น จิตวิทยาพัฒนาการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมที่แตกต่างกันของคนในแต่ละวัย จิตวิทยาการปรึกษานำความรู้ทางจิตวิทยามาประยุกต์ช่วยเหลือบุคคลที่มีความทุกข์

ถึงแม้ว่าจิตวิทยานั้นจะมีเป้าหมายในการทำนายพฤติกรรมมนุษย์อยู่ด้วย แต่เราก็ไม่ได้ทำนายจากสีหน้าท่าทางแบบในหนัง แต่เราทำนายจากสิ่งอื่นๆ ด้วย เช่น เราทำนายว่าความเครียดที่สูงขึ้น จะทำให้คนกินอาหารมากขึ้น หรือจำนวนคนที่มากขึ้น ลดพฤติกรรมการช่วยเหลือผู้อื่นของคน ดังนั้นการอ่านใจหรือการทำนายพฤติกรรรมจากสีหน้าท่าทางจึงได้รับการศึกษาจากนักจิตวิทยาเพียงบางสาขาเท่านั้น
นักจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับบางอาชีพจำเป็นต้องมีทักษะในการอ่านใจ เช่น นักจิตวิทยาการปรึกษาต้องมีทักษะในการสังเกตสีหน้า และท่าทางของผู้รับการปรึกษา เช่น การที่นักจิตวิทยาถามคำถามบางอย่าง แล้วผู้ตอบไม่ตอบนั้น เพราะอะไร เขามีสีหน้าอึดอัด ลำบากใจ หรือมีเหตุผลอื่นๆ ซ่อนอยู่หรือไม่ ในอีกวงการที่สำคัญคืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม เช่น ผู้ใช้จิตวิทยาในการสอบสวน เช่น ใช้ดูว่าจำเลยกำลังโกหกอยู่หรือไม่ขณะที่พูด หรือในวงการทหาร ที่ใช้จิตวิทยาในการดึงข้อมูลมาจากเชลยสงคราม แต่ก็ต้องบอกไว้ก่อนว่า อ่านใจที่ว่าคือการคาดการณ์สิ่งที่อีกฝ่ายน่าจะจะกำลังคิดเพียงคร่าวๆ เท่านั้น  นักจิตวิทยาที่ทำงานในวงการดังกล่าวอาจจะรู้แค่คร่าวๆ ว่า อีกฝ่ายกำลังโกหก หรือปิดบังอะไรบางอย่าง แต่การที่จะรู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไรนั้นต้องขึ้นอยู่กับผู้อ่านใจด้วยว่า รู้จักผู้ที่ถูกอ่านใจมากน้อยแค่ไหน มีข้อมูลเรื่องที่กำลังต้องการอ่านใจมากน้อยแค่ไหน

การอ่านใจแบบที่รู้ว่าอีกฝ่ายพูดอะไร เดาออกเป็นประโยค เป็นเรื่องเป็นราวแบบในภาพยนตร์นั้นยังถือว่าห่างไกลจากความเป็นจริงอย่างมาก และจนถึงทุกวันนี้ในแวดวงวิทยาศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นจิตวิทยา และศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับสมองและระบบประสาท ก็ยังไม่สามารถอ่านใจมนุษย์ได้ละเอียด และแม่นยำได้ขนาดนั้น แม้กระทั่งเครื่องจับเท็จ (Polygraph) ก็ไม่ใช่เครื่องมือที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถจับโกหกได้อย่างแม่นยำ

อย่างไรก็ตามนักจิตวิทยายังคงให้ความสำคัญและศึกษาเกี่ยวกับ “ภาษากาย” หรือกิริยา ท่าทาง น้ำเสียง หรือสิ่งต่างๆ ที่ไม่ได้พูดออกมาเป็นภาษาหรือคำพูด ว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นกุญแจที่สามารถไขได้ว่าบุคคลนั้นแท้จริงแล้วคิดอย่างไร เช่น ในตอนนี้มีงานวิจัยมากมาย ที่พยายามค้นหาว่ากิริยา ท่าทาง อะไรบ้าง ที่กำลังบ่งบอกว่าบุคคลนั้นกำลังโกหก ถึงเราก็ยังไม่สามารถจับโกหกใครได้ 100% และการจับโกหกนั้นต้องใช้การฝึกฝน และประสบการณ์ และไม่มีเทคนิคใดที่ดีที่สุด เพราะคนเรานั้นมีความแตกต่างกันไป

แม้ว่าจิตวิทยาจะเป็นศาสตร์ที่มีมานานแล้ว แต่เราต่างรู้กันดีกว่าจิตใจมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่ซับซ้อนอย่างยิ่ง การอ่านใจคนเลยเป็นเรื่องที่ยากเย็นไม่น้อยเลยทีเดียว แม้ว่าตอนนี้การอ่านใจคนอาจจะเป็นแค่เรื่องในภาพยนตร์ แต่เช่นเดียวกับที่คนสมัยก่อนไม่คาดคิดว่ามนุษย์จะบินได้ ไปอวกาศได้ หรือมีคอมพิวเตอร์ที่ใส่กระเป๋ากางเกงได้ ในอนาคตต่อไป จิตวิทยาอาจจะพัฒนาจนสามารถอ่านใจคนจริงๆ ได้ในสักวันก็เป็นไปได้.
Comments

    Archives

    February 2016
    December 2015
    November 2015
    October 2015
    September 2015

    Categories

    All
    แนะแนว

    RSS Feed

Powered by Create your own unique website with customizable templates.