เขียนโดย พงศ์มนัส บุศยประทีป
หากพูดคำว่า “จิตวิทยา” หลายๆ ท่านน่าจะเคยได้ยินคำนี้กันบ่อยๆ แต่อาจจะยังไม่เห็นภาพชัดเจนว่าแล้วจิตวิทยาคืออะไรกันแน่ โดยบางท่านอาจจะคุ้นเคยว่าจิตวิทยาเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการรักษาคนบ้า รักษาอาการทางจิต หรือจิตวิทยาเกี่ยวข้องเกี่ยวกับการอ่านใจคน แต่ในความเป็นจริงแล้วนั่นเป็นเพียงของส่วนเล็กๆ ของจิตวิทยาเท่านั้น แล้วแท้จริงแล้วจิตวิทยาคืออะไร วันนี้เราจะมาคุยเรื่องนี้กัน จิตวิทยานั้น มีความหมายตามชื่อ คือการศึกษาเกี่ยวกับ “จิต” เช่นเดียวกับ ชีววิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับ “ชีวะ” หรือสิ่งมีชีวิต หรือรังสีวิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับรังสี หลายๆ ท่านคงเริ่มสงสัยต่อว่า แล้ว “จิต” หมายถึงอะไร คำว่า “จิต” หรือจิตใจนั้น หมายถึงสิ่งที่ควบคุมให้เราทำสิ่งต่างๆ ท่านลองนึกว่าร่างกายของท่านคือหุ่นยนต์ หากไม่มีอะไรมาควบคุม ต่อให้มีไฟฟ้าหรือพลังงาน หุ่นยนต์ตัวนั้นก็ได้แต่ยืนนิ่งๆ แต่เมื่อไรก็ตามที่มีคนมาควบคุม หุ่นยนต์ตัวนั้นจึงจะเคลื่อนไหว มนุษย์ก็เช่นกัน โดยสิ่งที่คอยสั่งให้เราทำอะไรต่ออะไร ก็คือจิต หรือความคิดของเรานั่นเอง จิตวิทยานอกจากจะศึกษาเกี่ยวกับความคิด ที่คอยควบคุมให้เราทำสิ่งต่างๆ แล้ว จิตวิทยายังศึกษาความคิดที่อยู่ในใจที่ไม่แสดงออก รวมถึงอารมณ์และความรู้สึกของเราอีกด้วย นอกจากนี้จิตวิทยายังศึกษาเกี่ยวกับการกระทำหรือการเคลื่อนไหวหรือการแสดงออกมาภายนอก โดยทั้งความคิด อารมณ์ ความรู้สึก และการกระทำนั้น เราเรียกรวมกันว่าคือ “พฤติกรรม” สรุปสั้นๆ แล้วจิตวิทยาก็คือศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์นั่นเอง พฤติกรรมของมนุษย์นั้นมีมากมายมหาศาล ตั้งแต่ เดิน นอน พูด กิน ทำงาน นอกจากนี้อารมณ์ และความรู้สึกก็มีไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นดีใจ เสียใจ โกรธ ผิดหวัง เศร้า และอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้นจิตวิทยาเลยมีหัวข้อให้ศึกษามากมาย คำถามต่อมาคือ แล้วเราจะศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ไปเพื่ออะไร คำตอบแรกก็คือเพื่อทำให้เราเข้าใจ และสามารถอธิบายกลไกต่างๆ ของพฤติกรรมมนุษย์ได้ เช่น เรื่องพฤติกรรมการกิน เราสามารถอธิบายได้ว่าความรู้สึกหิวของมนุษย์นั้น เกิดขึ้นจากการที่ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ รวมถึงปริมาณอาหารที่อยู่ในระบบทางเดินอาหารมีน้อย หรืออธิบายได้ว่าการที่คนเราเลียนแบบคนอื่นนั้น เพราะเราต้องการเป็นที่ยอมรับจากบุคคลรอบตัว เราไม่อยากเป็นคนที่แปลกประหลาด เพราะตามธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคมแล้ว การถูกคนรอบตัวกีดกันไม่ยอมรับเป็นพวกเดียวกัน เป็นสิ่งที่ทำให้เราคนเรารู้สึกไม่ดีอย่างมาก หลังจากที่เราศึกษาเข้าใจพฤติกรรมต่างๆ กันไปแล้ว สิ่งต่อมาที่เราจะได้จากการศึกษาคือ เราสามารถทำนายว่าพฤติกรรมจะเกิดขึ้นเมื่อไร หรือมีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้เกิดหรือไม่เกิดพฤติกรรมดังกล่าว เช่น เราสามารถใช้ระดับความความวิตกกังวลทำนายเกี่ยวกับภาวะนอนไม่หลับได้ โดยคนที่ขี้กังวล มักจะพบกับปัญหาเรื่องนอนไม่หลับบ่อยๆ หรือเราสามารถทำนายความก้าวร้าวหรือการใช้กำลังทะเลาะวิวาทด้วยความแตกต่างทางเพศ เพราะโดยเฉลี่ยผู้ชายมักจะก้าวร้าวมากกว่าผู้หญิง หลังจากที่เราทำนายได้ว่าพฤติกรรมใด จะเกิดหรือไม่เกิด ขั้นต่อมาคือเราสามารถนำไปควบคุม หรือนำไปประยุกต์ใช้ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดหรือไม่เกิดพฤติกรรมต่างๆ เช่น เราสามารถควบคุมให้คนมีความเครียดน้อยลง ด้วยการให้คนหมั่นฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เพราะเรารู้แล้วว่าอาการตึงของกล้ามเนื้อนั้น ส่งผลให้คนเกิดความเครียดได้เช่นกัน หรือเราควบคุมให้คนอู้งานน้อยลง ด้วยการบอกปริมาณชิ้นงานที่ทำเสร็จของพนักงานละคน เพราะเรารู้ว่าการที่เราบอกชิ้นงานเป็นภาพรวมของทั้งแผนก จะยิ่งทำให้พนักงานอู้งานมากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมของมนุษย์เป็นหัวข้อที่มีสิ่งให้ศึกษามากมาย จิตวิทยาเองก็เลยมีหลากหลายสาขา เช่น จิตวิทยาพัฒนาการที่ศึกษาพฤติกรรมที่แตกต่างกันในระหว่างวัยเพราะเด็กก็มีพฤติกรรมบางอย่างแตกต่างจากผู้ใหญ่ หรือจิตวิทยาบุคลิกภาพที่ศึกษาเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างบุคคล เพราะคนแต่ละคนก็ใช่ว่าจะทำอะไร คิดอะไรเหมือนๆ กัน หรือจิตวิทยาสังคมที่ศึกษาพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไป เพราะการที่มีคนอื่นๆ อยู่รอบตัว เพราะคนเรานั้นอยู่คนเดียวก็มีพฤติกรรมอย่างหนึ่ง อยู่กับคนอื่นก็อาจจะมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป นอกจากนี้ยังมีการนำจิตวิทยาไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ ที่นำความรู้ทางจิตวิทยาไปใช้ประยุกต์ในการทำงานว่าจะทำอย่างไรให้พนักงานทำงานออกมาได้มีประสิทธิภาพที่สุด และยังมีความสุขในการทำงานอีกด้วย หรือจิตวิทยาการปรึกษาและจิตวิทยาคลินิก ที่นำหลักการทางจิตวิทยาไปประยุกต์ใช้เพื่อช่วยเหลือคนที่มีปัญหาด้านความทุกข์ ความเศร้า ปัญหาทางจิตใจอื่นๆ รวมถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับทางจิต ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าการรักษาคนผิดปกติทางจิต เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ในจิตวิทยาเท่านั้น ส่วนเรื่องการอ่านใจคนที่เราพูดถึงไปในตอนต้นนั้น จริงอยู่ว่าเป็นความใฝ่ฝันของมนุษย์ แต่ในปัจจุบัน เรายังไม่มีความรู้หรือเทคโนโลยีใดทางจิตวิทยาหรือศาสตร์อื่นๆ ที่จะอ่านใจของคนได้ เราสามารถอ่านท่าทาง การแสดงสีหน้า หรือน้ำเสียง เพื่อคาดเดาสิ่งที่คนคิดในใจได้บ้าง แต่การอ่านใจแบบในภาพยนตร์นั้น ยังคงเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ดังนั้นต่อให้เป็นนักจิตวิทยาก็ไม่สามารถอ่านใจคนได้ เมื่ออ่านถึงตรงนี้ คงจะพอทำให้ท่านเห็นภาพที่กว้างขึ้นจิตวิทยา เรามาลองสังเกตรอบๆ ตัวกันดีกว่า ว่ามีอะไรบ้างที่สามารถเป็นโจทย์ให้จิตวิทยาศึกษาได้บ้าง แล้วท่านจะพบว่าจิตวิทยานั้นเป็นศาสตร์ที่น่ารู้ไม่น้อยเลยทีเดียว. |
Archives
February 2016
Categories |