เขียนโดย ครูปฐม
สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน บทความนี้เป็นบทความแรกของผมบนเว็บไซต์ “Psychola.net” สำหรับบทความของผมจะเน้นไปที่การนำจิตวิทยามาประยุกต์ใช้ หรืออธิบายเกี่ยวกับเหตุการณ์ในเรื่องของเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเงินๆ ทองๆ นั่นแหละครับ ในตอนแรกผมคิดอยู่นานว่าจะเอาเรื่องไหนมาเขียนเป็นบทความเปิดฤกษ์ดี? แต่สุดท้ายก็คงต้องขอเริ่มด้วยเรื่องที่ผู้คนเดี๋ยวนี้ให้ความสนใจ ( หรือภาษาที่คนรุ่นใหม่พูดสั้นๆ ว่า ฮิต) มากที่สุดเรื่องหนึ่งก็ว่าได้ ซึ่งนั่นก็คือ “การลงทุนในหุ้น” นั่นเองครับ จะไม่ให้เรียกว่าฮิตกันได้ยังไงล่ะครับ เพราะเดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะไปไหนมาไหนก็จะเห็นคนรุ่นใหม่ๆ (รวมทั้งที่ไม่ใหม่แล้ว) เปิดมือถือขึ้นมาดูหุ้นกันซะจนชินตา เผลอๆ ในบทสนทนาหลายต่อหลายครั้งก็อาจจะมีเรื่องหุ้นเข้ามาเกี่ยวด้วยเป็นประจำ โดยบทความนี้ผมจะพาทุกท่านไปดูว่า จิตวิทยา และ การลงทุนในหุ้น นั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไร (จริงๆ แล้วสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับการลงทุนอื่นด้วยก็ได้เหมือนกันครับ) มีทฤษฎีการลงทุนที่อธิบายถึงความสำคัญของปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการลงทุน (ว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จขึ้นอยู่กับปัจจัยใดบ้าง) โดยแบ่งเอาไว้เป็น 3 ปัจจัย ได้แก่ เครื่องมือที่ใช้ตัดสินใจในการลงทุน (Indicators) การบริหารจัดการเงิน (Money Management) จิตวิทยา (Psychology) คิดว่าอันไหนสำคัญที่สุดครับ? ถ้าให้ตอบผมเชื่อว่าคำตอบที่ได้หลายคำตอบน่าจะตอบผมว่า “สำคัญทุกปัจจัยนั่นแหละ” ก็จริงครับ สำคัญทุกปัจจัยจริงๆ แต่ระดับความสำคัญก็ไม่เท่าเทียมกันไปซะหมดหรอกครับ ซึ่งตามทฤษฎีแล้วได้ให้น้ำหนัก เครื่องมือที่ใช้ในการลงทุน มีความสำคัญที่ 10% , การบริหารจัดการเงิน (Money Management) มีความสำคัญ 30% และจิตวิทยา (Psychology) มีความสำคัญถึง 60% จะเห็นได้ว่าทฤษฎีนี้ให้ความสำคัญกับปัจจัยในด้านจิตวิทยามากกว่าปัจจัยอื่นๆ ซึ่งตรงนี้หลายคนที่ลงทุนในหุ้นมาอยู่แล้วอาจจะมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นก็แล้วแต่วิจารณญาณ และวิธีการลงทุนของแต่ละคนครับ แต่จากประสบการณ์การลงทุนในตลาดหุ้นที่ผ่านมาของผมแล้ว ทำให้ผมเห็นด้วยกับทฤษฎีนี้ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว เพราะถ้าเรามาวิเคราะห์ดูให้ดีแล้วจะพบว่า ต่อให้เรามีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ (สามารถบอกช่วงการซื้อขายได้อย่างแม่นยำ) มากแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีการบริหารจัดการเงินลงทุนที่ดี (เช่น การซื้อหุ้นตัวนั้นทั้งหมดรวดเดียวเลย หรือการกู้ยืมเงินมาซื้อหุ้น) ก็อาจจะเกิดความเสี่ยงขึ้นได้ในอนาคตก็เป็นได้ครับ และต่อให้คุณบริหารจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว แต่ในด้านจิตวิทยาคุณมีปัญหา เช่น รู้สึกกลัวที่จะซื้อหุ้น (เมื่อเงื่อนไขการซื้อขายตรงตามแผนที่วางเอาไว้) ในช่วงตลาดขาลง หรือรู้สึกมั่นใจมากเกินไปในช่วงตลาดขาขึ้น ก็อาจจะทำให้คุณพลาดพลั้งได้เช่นเดียวกัน นี่คือประเด็นสำคัญ และมีน้ำหนักมากที่สุดในการลงทุนในหุ้น (และการลงทุนอื่นๆ) เลยก็ว่าได้ เพราะไม่ว่าจะมีเครื่องมืออันแสนวิเศษเพียงใด (ผมจะให้น้ำหนักปัจจัยนี้ 100% เลย ถ้าเจอเครื่องมือที่ไม่มีทางผิดพลาด) หรือมีการบริหารจัดการเงินที่ดีเยี่ยมแค่ไหน แต่ถ้าคุณไม่สามารถควบคุมจิตใจ ความกลัว ความโลภได้ ท้ายที่สุดการลงทุนนั้นก็คงจะไปไหนไม่ได้ (ดีไม่ดีอาจจะต้องขาดทุนเสียด้วยซ้ำ) เปรียบเสมือนกับคุณมีรถยนต์ supercar ที่สามารถวิ่งได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าขับไม่เป็น ก็ไม่สามารถที่จะเคลื่อนที่ไปไหนได้ไกลนั่นแหละครับ เห็นมั้ยละครับว่าจิตวิทยากับการลงทุนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก ในบทความต่อๆ ไป ผมจะพยายามเจาะลึกลงไปในทฤษฎีของจิตวิทยาที่เกี่ยวของกับเรื่องเงินๆ ทองๆให้มากขึ้น ถ้าใครสนใจบทความที่ผมเขียนก็รอติดตามกันได้เลยครับ แล้วคุณจะรู้ว่า... จิตวิทยามีอยู่ทุกที่จริงๆ. |
Archives
February 2016
Categories |