By NusNus
เคยอ่านหนังสือ a day weekly (นานมากแล้ว)มีการ์ตูนแซวสังคมเป็นแม่บ่นลูกตั้งแต่แม่ใส่โจงกะเบนแล้วลูกแต่งกระโปรงบานแบบสมัยฟ้าทะลายโจร พอแม่ยุคต่อมาใส่กระโปรงบานก็ไปบ่นลูกที่แต่งตัวแบบดิสโก้เทค พอแม่แต่งตัวแบบดิสโก้ก็มาบ่นลูกที่แต่งตัวฮิบฮอบไปเรื่อย ๆ เห็นแล้วตลกดี พอคิดแล้วก็มานึกถึงปัญหาสังคมทุกยุคสมัยที่ไม่มีวันแก้ไขได้คือปัญหาความไม่เข้าใจของพ่อแม่ กับลูก พ่อแม่ว่าถูกลูกว่าผิด พอลูกว่าถูกพ่อแม่ก็ว่าผิด ปัญหาที่ว่าคนต่างอายุไม่ค่อยเข้าใจกันไม่ได้มีแต่ในครอบครัวเท่านั้น ในที่ทำงานเจ้านายอายุมากไม่เข้าใจพนักงานวัยรุ่น หรือแม้แต่ครูไม่เข้าใจนักเรียน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นปกติ ซึ่งโยงเข้าชื่อเรื่อง ต่างรุ่นเข้าใจยาก เรื่องนี้ก็เกี่ยวกับจิตวิทยา เพราะจิตวิทยาเกี่ยวกับอะไรที่มนุษย์คิด หรือทำ ในหัวข้อนี้จะเกี่ยวกับเรื่องความคิด คนเรานั้นถูกผิด มีหลายอย่างที่พูดง่ายหลายอย่างที่พูดยาก ถูกผิดที่พูดง่ายเช่น หนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสามอันนี้เห็นชัดว่าผิด (ผิดจริง ๆ นะ) ถูกผิดที่พูดยากเช่น กระโปรงขนาดไหนถึงเรียกว่าโป๊ เวลาเจอผู้ใหญ่ต้องพูดแบบไหน ควรแต่งงานอายุเท่าไหร่ อันนี้ไม่ใช่กฎเกณฑ์ตายตัวที่มีเขียนไว้ บางคนก็ว่าแบบนี้ถูก บางสังคมก็ว่าแบบนี้ถูก บางประเทศก็ว่าแบบนี้ถูก สิ่งเหล่านี้ถูกผิดขึ้นอยู่กับอะไรนั้นอาจจะเรียกได้ว่าขึ้นกับที่คนแต่ละคนยึดถือ ที่ถูกผิดแบบมีหลักยึดมันก็พอจะง่ายที่จะบอกว่าแบบไหนถูก แต่ถ้ามันไม่มีหลักอะไรให้ยึด คนเราก็จะใช้หลักที่ง่ายและสมองสั่งให้ใช้ คือยึดคนรอบตัวว่าคนอื่นเขาทำอะไรกัน พอคนรอบตัวมุงอะไรเราก็อยากมุงมั่ง พอคนใส่สีขาวดำเราก็รู้สึกว่าควรจะใส่ด้วย คนในผับแดนซ์กันเราก็รู้สึกว่าควรจะไปแดนซ์ เป็นเรื่องง่ายที่จะคิดว่าคนส่วนใหญ่เขาทำอย่างไร และที่ถูกก็คือแบบนั้น เช่น พอเข้าผับแล้วไปนั่งเฉย ๆ กินอาหารกับน้ำอัดลม มันก็เลยกลายเป็นเรื่องผิดแปลก ปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างรุ่นมีพื้นฐานมาจากสิ่งนี้นี่เอง โลกเราไม่ได้หน้าตาเหมือนเดิมตลอดเวลา ผ่านไปหนึ่งปีอะไร ๆ ก็เปลี่ยน คนในสังคมก็เปลี่ยน คนที่ใช้ชีวิตมาในสังคมแบบไหนก็จะมีความคิดอีกแบบหนึ่ง คนที่ใช้ชีวิตมาในสังคมอีกแบบก็จะมีความคิดอีกแบบ และตามที่บอกมาแล้วถูกผิดของคนขึ้นกับคนรอบตัวมาก ๆ คนที่เกิดในยุคสมัยเดียวกันก็มักจะคิดคล้ายกัน คนที่อยู่ในเวลาต่างกันก็จะคิดต่างกัน เพราะว่าคนรอบตัวพวกเขาไม่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ถ้าเมื่อยุค 1960 หรือ Sixty ที่เราคุ้นหู ด้วยอิทธิพลของเอลวิส ใครไว้จอนใส่กางเกงขาบานก็เป็นการแต่งตัวปกติที่ถือว่าถูกต้อง เพราะคนอื่นเขาก็แต่งแบบนี้ ใครไม่ทำสิจะเป็นคนเชยระเบิด แต่เมื่อคนรุ่นนั้นแก่ตัว มามีหลานในสมัยนี้ที่แต่งแนวพังค์สีแสบ ๆ โกรกผมนุ่งสั้น ก็คงคิดว่าคนรุ่นนี้มันแต่งอะไร ไม่เห็นจะเข้าท่าเลย ส่วนวัยรุ่นสมัยนี้ถ้าเห็นคนมาแต่งไว้จอนขาบานก็คงคิดว่าพวกนี้แต่งอะไรไม่เข้าท่าเหมือนกัน เรื่องนี้ก็พอจะโยงกับพ่อแม่ที่ไม่เข้าใจวัยรุ่นแต่งตัวสั้น ๆ โป๊ ๆ ได้ เพราะในสมัยที่พวกเขาเป็นวัยรุ่นไม่มีใครแต่งแบบนี้กัน ไม่ใช่แค่เรื่องการแต่งตัวเท่านั้น การใช้ชีวิตการประกอบอาชีพของคนในแต่ละเวลาก็ต่างกัน คนในวัยรุ่นสมัยสักหลายสิบปีก่อน ยิ่งเป็นคนจีนต้องสร้างฐานะของตัวเองด้วยความยากลำบาก และจากความยากจนมาก่อนจึงเห็นคุณค่าของเงินและการเลี้ยงชีพ แต่พอมาในคนยุคต่อไปคนที่เป็นวัยรุ่นเกิดมาในสังคมที่เพียบพร้อมกว่า คนใช้เวลาไปกับดนตรี กีฬา ศิลปะ ความบันเทิง ซึ่งนี่เป็นเรื่องปกติของสมัยนี้ที่ใคร ๆ ก็ทำกัน จึงไม่แปลกใจที่เป็นปัญหาเกือบทุกบ้านคือ ลูก ๆ อยากทำตามความฝัน แต่พ่อแม่อยากให้ลูก ๆ มีฐานะมั่นคง เกิดมาในเวลาต่างกัน ก็เห็นว่าอะไรถูกผิดต่างกัน พ่อแม่เลยไม่เข้าใจลูก ครูเลยไม่เข้าใจนักเรียน เจ้านายอายุมากกว่าไม่เข้าใจลูกน้องที่อายุน้อยกว่า ก็ต้องเข้าใจซึ่งกันและกันหน่อย เพราะบางเรื่องในสมัยก่อนถือว่าถูกแต่สมัยนี้ถือว่าผิด และในบางเรื่องสมัยก่อนถือว่าผิดแต่สมัยนี้ถือว่าถูก และอย่างที่พูดไว้แล้วถูกผิดแบบนี้มันไม่มีความตายตัว มันเปลี่ยนไปตามสังคม ซึ่งสังคมก็เปลี่ยนไปตามเวลา ความจริงแล้วจะเกิดในเวลาไหนก็ยังมีสิ่งที่เหมือนกัน คือความไม่เข้าใจกันว่าทำไมอีกฝ่ายถึงคิดไม่เหมือนตัวเอง และความต้องการที่จะอยากให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจกัน หากใจกว้างยอมรับความเปลี่ยนแปลงของโลก และเหตุผลของอีกฝ่ายเสียหน่อย จะต่างยุคต่างสมัยกันขนาดไหน ก็น่าจะยังมีโอกาสที่จะเข้าใจกัน . |
Archives
February 2016
Categories |