เมื่อไม่กี่วันก่อนมีคนมาถามผมเกี่ยวกับกองทุนกองหนึ่ง ซึ่งโฆษณาเอาไว้ว่าจะสร้างผลตอนแทนให้คนที่นำเงินมาลงทุนได้เดือนละเป็นสิบเปอร์เซนต์ (ซึ่งถ้าบวกลบคูณหารดูแล้ว เพียงแค่ไม่ถึงปี...ก็จะได้เงินกลับมาเท่าตัวนึงเลยทีเดียว) ฟังดูแล้วเป็นอะไรที่ดูน่าดึงดูดใจสุดๆ แต่ช้าก่อน!!! จำนวนผลตอบแทนที่มากมายขนาดนั้น ความเสี่ยงที่ตามมาจะขนาดไหนกันล่ะ? “ความเสี่ยงน้อยมากเลย เพราะบริษัทมีการนำไปลงทุนใน@#@!@$!@#!” คำตอบที่คนชักชวนมักจะตอบให้แก่ผู้ได้รับโอกาสอันดีเลิศประเสริฐศรีที่ขี้สงสัย โอ้โหหหหหหหหหหหห (แบบยาวๆ) มีการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อยๆ ผลตอบแทนเยอะๆ และที่สำคัญคือแทบไม่ต้องทำอะไรเลย (นอนจิบกาแฟและใช้ชีวิตแบบ Slow Life แบบสบายๆ สิ้นเดือนมาก็มีเงินลอยมาให้ใช้) แบบนั้นบนโลกใบนี้ด้วยหรือนี่!!! ก่อนที่ผลตอบแทนอันสูงส่งจะชักจูงจินตนาการของเราให้ไปไกลกว่านี้ ผมว่าลองมามองกันในโลกแห่งความจริงๆ กันดีกว่าครับ ลองมาคิดเล่นๆ ง่ายๆ ดูว่าถ้ามีผลตอบแทนที่สูง และความเสี่ยงต่ำขนาดนั้น ป่านนี้ นักลงทุน รวมไปถึงสถาบัน และองค์กรต่างๆ ที่มีความรู้เรื่องการลงทุนในระดับยอดเยี่ยม และมองหาโอกาสในการลงทุนอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ก็คงจะแห่เอาเงินไปต่อแถวลงทุนกันยาวเหยียดไปแล้ว อย่างธนาคารเองก็คงไม่มานั่งปล่อยกู้ให้เราในอัตราที่ปีนึงได้ไม่กี่เปอร์เซ็นต์หรอกครับ (เอามาลงทุนแบบนี้เดือนเดียวก็ได้เป็นสิบเปอร์เซ็นต์แล้ว...ปล่อยกู้ทั้งปียังได้ไม่ถึงเลย) สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะแนะนำให้ทำเวลาที่มีคนมาชักชวนให้ไปลงทุนในลักษณะที่ ผลตอบแทนสูง แต่ความเสี่ยงต่ำ คือ พยายามมีสติ ดูรายละเอียดเงื่อนไขต่างๆ ให้ละเอียดถี่ถ้วน และที่สำคัญคือให้ระวังการโดนหลอกเอาไว้ด้วยก็จะดีครับ จริงๆ แล้วเรื่องทำนองนี้ดูเหมือนจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่เรื่อยๆ มีทั้งที่ตั้งใจจะหลอกลวง หรือแบบที่ไม่ได้หลอก (แค่บอกไม่หมด)... และแม้ว่าจะมีการบอกกล่าว หรือตักเตือนให้ระแวดระวังกันมากแค่ไหน ไม่วายก็ยังมีคนตกเป็นเหยื่ออยู่ดีครับ! ปัญหาไม่ใช่เพราะคนที่ถูกหลอกไม่เคยรับรู้เรื่องราวเหล่านี้หรอกนะครับ บางคนอาจจะเคยได้ยิน หรือแม้แต่เคยตักเตือนคนอื่นให้ระวังด้วยซ้ำ แต่พอถึงคิวตัวเอง เมื่อถูกโน้มน้าวชักจูงด้วยข้อความที่น่าหลงใหล ประกอบกับข้อเสนอที่น่าสนใจ ทำให้สุดท้าย ความโลภ ก็ขึ้นมาบดบังวิจารณญาณ รวมไปถึงการตัดสินใจในที่สุด ซึ่งแม้แต่คนที่หนักแน่น และมีความเชื่อมั่นสูงก็ไม่แน่ว่าจะรอดไปได้เสมอ มีการทดลองทางจิตวิทยาของ Solomon Asch ที่ได้ทำการทดลองเรื่องการคล้อยตาม (conformity) โดยแบ่งคนออกเป็นกลุ่มๆ ในแต่ละกลุ่มจะมีแปดคน โดยที่เจ็ดคนจะเป็นหน้าม้าที่ผู้ทำการทดลองได้ตระเตรียมเอาไว้ จะมีแค่หนึ่งคนเท่านั้นที่เป็นผู้ร่วมทดลองตัวจริง โดยการทดลองจะให้สมาชิกทุกคนในกลุ่มตอบออกมาว่าเส้นตรง 3 เส้น (A, B และ C) เส้นไหนยาวที่สุด (ซึ่งเส้นที่ให้มาจะค่อนข้างชัดเจนว่าเส้นไหนยาวที่สุด) ซึ่งในช่วงแรกๆ หน้าม้าทุกคนจะเลือกคำตอบที่ถูกต้อง แน่นอนว่าผู้เข้าร่วมทดลองก็ตอบได้ถูกเช่นเดียวกัน แต่หลังจากนั้นหน้าม้าก็จะพร้อมใจกันเลือกตอบข้อที่ผิด เพื่อดูว่าผู้ร่วมการทดลองจะทำอย่างไร
ผลการทดลองปรากฎว่ากว่า 30% ของผู้เข้าร่วมการทดลองเลือกที่จะคล้อยตามคำตอบของคนส่วนใหญ่ (หน้าม้า) ซึ่งเป็นคำตอบที่ผิด ตรงนี้ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยครับว่า บ่อยครั้งที่การตัดสินใจของตัวเราเกิดจากความคล้อยตามคนอื่น ไม่ได้มาจากเหตุผลหรือวิจารณญาณของตัวเราเองเสมอไป ซึ่งตรงนี้แหละครับที่บรรดาคนที่ต้องการจะมาชักจูงเรามักจะใช้กัน บางคนอาจจะมาเป็นพวก (แบบหน้าม้าในการทดลอง) บางคนอาจจะอ้างอิงแหล่งข้อมูลที่ (ดู) น่าเชื่อถือเพื่อให้เรารู้สึกว่าคนอื่นๆ เขาก็ทำกัน ดังนั้นเวลาจะเลือกลงทุนใดๆ ก็ตาม อยากจะขอให้ทุกคนมีสติ รอบคอบ และตั้งอยู่บนความเป็นจริง เวลาเห็นตัวเลขหรือผลตอบแทนใดๆ ก็พยายามดูเหตุดูผลว่าเป็นอย่างไร อย่าให้การถูกโน้มน้าวจากบุคคลอื่น หรือความโลภมามีอิทธิพลชี้นำการลงทุนของเรา ไม่เช่นนั้นสุดท้ายก็อาจจะต้องเสียใจ source: คลิปการทดลองของ Asch : https://www.youtube.com/watch?v=TYIh4MkcfJA |
Archives
February 2016
Categories |