By Dtan
ในช่วงพักเที่ยงของชีวิตนักเรียนมัธยมปลาย ขณะที่ผมกำลังนั่งเบื่อๆ อยู่ที่โต๊ะของตัวเอง เพื่อนที่ตั้งก๊วนเล่นเกมกันมาตั้งแต่มัธยมต้นก็เดินเข้ามาพร้อมใบหน้าที่เปล่งประกาย “เฮ๊ย สนใจเล่นเกมนี้ป่าว” พูดเสร็จเพื่อนผมก็ยื่นหนังสือคู่มือเกมหน้าปกสีสันสดใสให้ผมดู “เกมออนไลน์เหรอ ?” ผมถามพลางเปิดหนังสือดูคร่าวๆ “ใช่ๆ เคยเล่นกันมาแต่พวกเกมวางแผนการรบกับเกมยิงปืน ลองเปลี่ยนมาเล่นออนไลน์บ้างสิ เรารวบรวมคนที่สนใจได้ 7 คนแล้วนะ สนใจป่าวๆ เราจะได้ไปชวนคนอื่นต่อ” เพื่อนผมเร่งเร้า “เออ เอาดิ เอาแผ่นมาให้เราด้วยหละ” ผมพยักหน้าตอบไปอย่างไม่ลังเลพร้อมกับรอยยิ้ม นี่คือจุดเริ่มต้นของการที่ผมได้เริ่มต้นรู้จักกับเพื่อนใหม่ที่ชื่อว่า… เกมออนไลน์ ผมจำไม่ได้แน่นอนว่าผมชื่นชอบการเล่นเกมมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเกมซุปเปอร์แฟมมิคอม หรือ เก่ากว่านั้นอย่างเครื่องเกมแฟมมิคอม เครื่องขาวจอยแดง ที่หลายๆ คนอาจจะรู้จักในชื่อเครื่องแฟมมิลี่ ผมก็ไม่เคยพลาด จนกระทั่งได้มารู้จักกับเกมจากเครื่องคอมพิวเตอร์ ความสนใจในเครื่องเกมแบบอื่นๆ ของผมก็หมดไป ถ้าจะถามว่าพฤติกรรมการเล่นเกมของผมในช่วงนี้เป็นการเสพติดเกมรึเปล่า คงต้องไปทำความเข้าใจถึงนิยามของ การเสพติดเกม (Game Addiction) ก่อน ซึ่งมีความหมายว่า คนติดเกมจะมีลักษณะที่หมกมุ่นอยู่กับเกม ไม่สนใจสิ่งอื่นๆ แม้กระทั่งการสนองต่อความต้องการเบื้องต้นของร่างกาย เช่น การกินอาหาร มีอาการคล้ายคนติดยาหรือติดการพนัน ที่รู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี อยากจะหยุด แต่ไม่สามารถทำตามและห้ามตัวเองได้ ซึ่งอาจอธิบายได้ในแง่กลไกการทำงานของสมองว่าสมองมีการหลั่งสารสื่อประสาทบางชนิดออกมาเมื่อมีพฤติกรรมซ้ำๆ และเมื่อหลั่งสารประเภทนี้ออกมาแล้วทำให้เกิดความสุข เรียกวงจรแบบนี้ว่า Reward Circuit ส่งผลให้สมองส่วนหน้าที่ใช้ควบคุมตัวเองมีความสามารถลดลง ดังนั้นเมื่อพิจารณาตามความหมายนี้แล้วน่าจะจัดพฤติกรรมการเล่นเกมของผมได้ว่าเป็นการหลงใหลหรือคลั่งไคล้เกมมากกว่า เพราะแม้ผมจะเล่นเกมอยู่เป็นประจำแทบทุกวัน แต่ก็เป็นการเล่นในเวลาว่าง ยังคงทำกิจกรรมอื่นๆ และใช้ชีวิตประจำวันอย่างเป็นปกติ จนกระทั่งผมได้มาเริ่มเล่นเกมออนไลน์ เวลาที่ใช้ในการเล่นเกมก็พุ่งพรวดขึ้นมาเป็น 2-4 ชั่วโมงต่อวัน คำตอบเดียวที่ทำให้ผมสนุกสนานกับการเล่นเกมออนไลน์ในขณะนั้นก็คือ เพื่อน ใช่เลยครับ กลุ่มเพื่อนๆ ที่ชวนผมมาเล่นนี่แหละ การได้แข่งกันเก็บเลเวล การได้มานั่งโม้ว่าได้ไอเทมแบบไหนมาใช้ มาคุยกันว่าจะปั้นตัวละครแบบไหนดี เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผมชื่นชอบและมีความสุขกับการเล่นเกมออนไลน์ ส่งผลให้ผมหลับหูหลับตาเก็บเลเวลในเกมอย่างเอาเป็นเอาตาย ผมเริ่มรู้จักกับเพื่อนใหม่ในเกมออนไลน์ เริ่มมีสังคมเล็กๆ ของผมเกิดขึ้นมา จนผมเริ่มหลงลืมที่จะเก็บเลเวลในชีวิตจริง เวลาที่ใช้ไปกับการเล่นเกมออนไลน์ก็เขยิบมากขึ้นทุกทีๆ มาเป็นวันละ 5-6 ชั่วโมง โดยไม่รู้ตัวเลยผมได้เปลี่ยนสถานะตัวเองจากเด็กคลั่งไคล้เกมมาเป็นเด็กเสพติดเกมทีละน้อยๆ จนผมมาเสพติดเกมอย่างเต็มตัว …. เมื่อผมเริ่มทะเลาะกับคุณพ่อคุณแม่เรื่องเวลาในการเล่นเกมบ่อยขึ้น …. เมื่อผมไม่สนใจจะอ่านหนังสือเรียนแม้จะต้องสอบในวันพรุ่งนี้ก็ตาม …. เมื่อผมไม่อยากทานอาหารหรืออยากออกไปเที่ยวไหนทั้งนั้นเพราะจะทำให้ผมเสียเวลาเล่นเกม …. เมื่อในหนึ่งวันผมใช้เวลาอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมง หากถามว่า “อะไร” ที่ทำให้ผมติดเกมออนไลน์ คำตอบหลักๆ ก็คือ เพื่อนเหมือนเดิมครับ เพียงแต่ว่าไม่ใช่เพื่อนกลุ่มดั้งเดิมแล้วเท่านั้น แต่เป็นเพื่อนกลุ่มใหม่ที่ผมได้จากสังคมเกมออนไลน์ เพราะสังคมเล็กๆ ที่ผมได้สร้างเอาไว้ ในตอนนี้มันกลายเป็นสังคมขนาดใหญ่ ผมกลายเป็นคนสำคัญมีคนรู้จักมากมาย ผมสามารถหาแฟนได้จากการคุยกันไม่กี่ประโยค ความฝันหลายๆ อย่างของผมสามารถเป็นจริงได้ในสังคมนี้ ทุกอย่างดูดีและมีความสุขไปหมด แล้วทำไมผมถึงจะต้องหยุดเล่นด้วย… วันที่ผมเล่นเกมไปถึงจุดที่เรียกว่าสูงสุดของเกมเท่าที่ตัวละครผมจะเป็นได้ เป็นวันที่ผมดีใจมาก เพื่อนๆ ที่ผมรู้จักในเกมต่างก็มาแสดงความยินดี สำหรับผมวันนี้เป็นวันที่มีความสุขสุดๆ แต่แล้วความรู้สึกนั้นก็ถูกกระแทกอย่างแรงด้วยคำถามของผมเองหลังจากที่กดปุ่มปิดคอมพิวเตอร์ว่า “พอปิดเกมไปแล้วจะมีใครรู้ไหมนะว่านายเป็นผู้ยิ่งใหญ่ เป็นผู้มีความสามารถ เป็นตัวละครที่เก่งสุดๆ ?” ผมอึ้งไปนานกับคำถามนี้ เพราะในใจลึกๆ ของผมรู้ดีว่าคำตอบของคำถามนี้ก็คือ “ไม่มี” ผมอาจจะเป็นผู้ชนะที่ยิ่งใหญ่ในเกมที่เล่นแต่ผมก็เป็นเพียงผู้แพ้อย่างสมบูรณ์แบบต่อจิตใจของผมเอง แพ้ต่อความอยาก แพ้ต่อความหลงสนุก และเป็นผู้แพ้อย่างแท้จริงในเกมที่เรียกว่า “ชีวิตจริง” ผมมักจะคิดอยู่เสมอเมื่อทะเลาะกับคุณพ่อคุณแม่ว่า “ก็แค่เกมจะเลิกเมื่อไหร่ก็ได้ ผมควบคุมตัวเองได้อยู่แล้ว” แต่ในความเป็นจริงผมไม่เคยจะทำได้เลย การคอยหลอกตัวเองโดยไม่ตระหนักถึงความเป็นจริงในลักษณะนี้มีแต่จะยิ่งทำให้ความอยากในจิตใจทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะมัวแต่ไปคิดว่าความอยากของผมมันไม่ใช่ปัญหา ผมจึงไม่สนใจจะแก้ปัญหาเรื่องการควบคุมความอยากในการเล่นเกม ทั้งๆ ที่สิ่งนี้แหละ คือ สาเหตุสำคัญ ผลหลงลืมที่จะตระหนักว่าสังคมที่ผมได้ใช้เวลาอยู่ในเกมออนไลน์นั้นเป็นเพียง สังคมสมมติ ทว่าผมกลับไปให้ความสำคัญแก่สิ่งเหล่านั้นมากมายกว่า สังคมจริงๆ ที่ผมอาศัยอยู่ ปัจจัยหรือสิ่งที่ทำให้ติดเกมสำหรับหลายๆ คนอาจจะแตกต่างกันออกไป เพราะเพื่อน, เพราะความสนุก ฯลฯ แต่รูปแบบของการทำให้ติดเกมนั้นไม่น่าจะแตกต่างกัน ซึ่งก็คือ การพ่ายแพ้ต่อจิตใจของตนเอง การจำกัดชั่วโมงเล่นเกมในเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี, การจัดระเบียบร้านอินเตอร์เน็ต, การรณรงค์ให้เยาวชนและผู้ปกครองทราบโทษของการเล่นเกม สิ่งเหล่านี้เป็นการแก้ปัญหาเรื่องการติดเกมใช่หรือไม่ คำตอบคือ ใช่ แต่คำถามที่ว่าแก้ที่ตรงไหน? สาเหตุหรือว่าปลายเหตุ อาจจะเป็นคำถามที่น่าใส่ใจกว่า เพราะต้นเหตุจริงๆ ไม่ใช่ใครอื่นไกล มองกลับมาที่ตัวของเราเองนี่แหละ เพราะตัวเราเองคือสาเหตุของปัญหา การไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจต่อความรักสนุก ต่อความเพลิดเพลิน การไม่รู้จักรับผิดชอบต่อชีวิตจริงของตัวเองน่าจะเป็นปัญหาใหญ่ที่ตัวเราเองควรตระหนักถึงและหาทางแก้ไขมากที่สุด แล้วเด็กหรือวัยรุ่นจะมีความสามารถในการคิด ในการตัดสินใจเพียงพอหรือ? คำถามนี้อาจจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในเรื่องของเกมด้วยการสั่งห้าม การกำหนดบทลงโทษ นั่นคือ สิ่งที่สังคมตัดสินแทนเด็กหรือวัยรุ่นไปแล้วว่าเกมเป็นสิ่งไม่ดี ไม่ควรไปยุ่งเกี่ยว … แต่ในความเป็นจริงเรื่องของเกม อาจจะไม่ใช่สีดำหรือสีขาวแบบที่สังคมชอบตัดสิน แต่ว่าเป็นสีเทา จะมีประโยชน์มากหรือมีโทษมากก็ขึ้นกับคนเล่นว่าจะซึมซับอะไรเข้ามา ถ้าถามผมว่าเวลาและเงินที่เสียไปในช่วงที่ติดเกมเยอะมากไหม คำตอบคือ เยอะมาก แต่ถ้าถามต่อว่าแล้วผมได้เพื่อนดีๆ ที่ยังติดต่อกันอยู่แม้จะเลิกเล่นเกมกันไปแล้วไหม คำตอบก็คือ ได้ สำหรับคนที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ การใช้กฎระเบียบจากผู้อื่นมาบังคับก็อาจจะเป็นทางออกที่หลายๆ คนเห็นสมควร แต่ถ้าตัวเราสามารถยอมรับและควบคุมตัวเองได้โดยไม่ต้องให้ใครมาบังคับ ก็ดูจะเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจที่สุดเพราะ … ชัยชนะใดๆ ก็คงไม่ยิ่งใหญ่มากไปกว่า การรู้จักเอาชนะใจของตัวเอง อ้างอิง คู่มือ เมื่อลูกติดเกม พิมพ์ครั้งที่ 1 ปี 2548 http://www.thaiparents.net |
Archives
February 2016
Categories |