ตอนนี้มีสินค้าอะไรต่อมิอะไรให้ซื้อเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นสินค้าปัจจัยสี่ที่ขาดไม่ได้ สินค้าที่สร้างความบันเทิงความสนุกสนาน ไปจนถึงสินค้าที่ซื้อความฉลาด อย่างตอนดูทีวีหรือขึ้นรถไฟฟ้าก็จะเห็นคุณหนูดีที่เป็นพรีเซนเตอร์สินค้ายี่ห้อหนึ่งโดยมีคอนเซปส่งเสริมความสามารถทางสมองโดยการฝึกฝน และการดูแล (เช่นการกินผลิตภัณฑ์ที่ว่า) โดยสินค้าที่ว่าจะได้ผลหรือไม่ได้ผลก็ช่างเหอะเพราะนี่คือคอลัมน์จิตวิทยาไม่ใช่เภสัช หรือการตลาด
“ความฉลาด” เกี่ยวกับจิตวิทยาอย่างแน่นอน เพราะความฉลาดก็มีผลต่อพฤติกรรม (ความคิด หรือการกระทำ) ของบุคคล ส่วนเรื่องที่ว่าฉลาดคืออะไรนั้นก็มีทฤษฎีที่อธิบายไว้หลากหลายมากมาย แต่เอาเป็นว่าฉลาดก็คือคิดหรือทำอะไรได้เก่ง หรือคำว่าฉลาดที่ทุก ๆ คนเข้าใจก็แล้วกัน ค่านิยมว่าคนควรจะฉลาดนั้นคงมีมานานแล้ว เพราะผู้เขียนคอลัมน์เองตั้งแต่เกิดมาก็ถูกครอบครัวส่งเสริมให้ลูก ๆ ฉลาดอย่างยิ่งยวด และคิดว่าคุณปู่ ย่า ตา ยาย ก็น่าจะส่งเสริมให้ลูก ๆ ตัวเองฉลาดเช่นกัน (ไม่เคยได้ยินว่าใคร ๆ อยากให้ลูกตัวเองโง่) ความฉลาดมีความสำคัญจริง ในแง่ของความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิต สัตว์ที่ฉลาดก็น่าจะรู้วิธีหาอาหาร ล่าเหยื่อ หรือหลบหลีกอันตรายได้ดีกว่า ความฉลาดจึงเป็นคุณลักษณะที่เผ่าพันธุ์ต่าง ๆ รวมถึงมนุษย์รู้สึกได้ว่ามีประโยชน์จริง ๆ นั่นแหละ แต่ควรจะฉลาดขนาดไหนนั้น ถ้าเป็นสัตว์จะเห็นภาพชัดคือ ถ้าตัวไหนไม่ฉลาดพอที่จะหาอาหาร หรือหนีศัตรูก็มักจะไม่ค่อยมีชีวิตรอด แต่มนุษย์นั้นต่างกัน คนเราเป็นสัตว์สังคมที่ค่อนข้างเหนียวแน่น เราอยู่อย่างไม่มีผู้ล่า และอาหารเราก็อุดมสมบูรณ์ตั้งแต่ป้าแจ่มหน้าปากซอย จนถึงร้านในพารากอน ความฉลาดที่จำเป็นที่คนเราจะมีชีวิตรอดน่าจะไม่ต้องมีมากขนาดนั้น แค่พอที่จะสื่อสารได้ ทำงานได้ หาเงินปัจจัยสี่ได้ก็อยู่รอดแล้ว พูดได้อย่างจริงจังว่าถ้าแค่เพื่อมีชีวิตรอด เราไม่ต้องฉลาดมาก เราก็อยู่ได้ แต่ปัญหาคือคนในสังคมชอบการเปรียบเทียบ ใคร ๆ ก็ไม่อยากน้อยหน้าใคร จะบอกว่า แกโง่กว่าฉัน มันก็ไม่น่าจะมีใครพอใจหรอก ใคร ๆ ก็อยากจะฉลาดมาก ๆ ทั้งนั้น ดูตัวอย่างจากค่าความฉลาดที่ใช้อย่างแพร่หลาย IQ (intelligence quotient) ก็คือค่าที่บอกว่าเราฉลาดกว่าคนทั่วไปขนาดไหน ถ้าจะให้พูดตรง ๆ คือถ้าอยู่คนเดียวก็ไม่น่าจะมีปัญหาว่าจะโง่หรือฉลาด เพราะยังไงก็คงไม่ฉลาดหรือโง่ไปกว่าใคร เราไม่ได้กลัวที่จะฉลาดน้อย แต่กลัวที่จะฉลาดน้อยกว่าคนอื่น เมื่อสามสี่เดือนก่อนได้ฟังสัมมนาวิชาการเรื่อง “ไขความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับจิตวิทยา” โดยหัวข้อส่วนหนึ่งคือ “อัจฉริยะควรสร้างเพียงไร” ซึ่ง ผ.ศ. พรรณระพี สุทธิวรรณ ได้มาถกกันว่า แม่ ๆ ทุกคนก็อยากให้ลูกๆของตนฉลาด และความฉลาดนั้นจำเป็นจริง ๆ หรือ? ซึ่ง ผ.ศ. พรรณระพี ก็ตอบได้อย่างน่าฟังว่า ที่พ่อแม่ต้องการให้ลูกฉลาด ก็เพราะว่าอยากให้ลูกเรียนเก่ง ๆ มีงานดี ๆ มีเงินดี ๆ ที่สุดแล้วก็เพื่อให้ลูกของตน“มีความสุข” นั่นเอง และที่ผ.ศ. พรรณระพี สรุปไว้อย่างพอใจผู้เขียนคอลัมน์คือ ความจริงก็ไม่ต้องทำให้ลูกฉลาดขนาดเป็นอัจฉริยะ แค่ทำอย่างไรให้ลูกมีความสุข น่าจะดีกว่า ถ้าลูกต้องทนตรากตรำเรียนแล้วไม่มีความสุขแล้ว จะอัจฉริยะไปทำไม ดังนั้นก็ลอกบทสรุปมาเลยแล้วกันว่า ฉลาดเท่าที่ทำให้มีความสุขแล้วกัน แต่ไม่ได้แปลว่าคนที่ฉลาดจนอัจฉริยะจะไม่มีความจำเป็น หรือจะฉลาดมากๆไปทำไม เพราะมีวิทยาการเทคโนโลยีมากมายที่ทำให้โลกพัฒนา คิดค้นมาจากบุคคลอัจฉริยะเช่น ทฤษฎีสัมพันธภาพพิเศษซึ่งคิดโดยไอน์สไตน์ หรือหลาย ๆ คนที่พูดได้เต็มปากว่าคนธรรมดา ๆ ไม่น่าคิดอะไรแบบนี้ได้ และก็ไม่ได้แปลว่าจะส่งเสริมให้คนไม่ฉลาด แต่ควรจะพยายามเท่าที่ความสามารถของตนเองจะทำได้และกัน จะให้บวกเลขไม่เอา คูณเลขไม่ไหว หารทศนิยมก็ฆ่ากันดีกว่า ก็เกินไป อย่าอยากฉลาดแค่ว่าต้องการฉลาดมากกว่าคนอื่นหรือฉลาดไปอวดใคร แต่ควรอยากจะฉลาดเพื่อที่จะใช้ความฉลาดให้เป็นประโยชน์ ฉลาดพอที่จะคิดค้นสูตรยาที่กินแล้วฉลาด ให้คนทั้งบ้านทั้งเมืองฉลาดเท่ากันหมดก็ดีนะ จะได้ไม่ต้องมาคิดว่าใครจะฉลาดกว่าใครอีกต่อไป ลดหัวข้ออวดลูกตัวเองของพ่อ ๆ แม่ ๆ กับชาวบ้านได้อีกด้วย ปริ้นต์ไปให้พ่อแม่ดูสิจ้ะ |
Archives
February 2016
Categories |