เรื่อง: NusNus
วันก่อนไปนั่งกินข้าวกับเพื่อนที่ตลาดสามย่าน สามย่านเป็นตลาดที่มีจุดเด่นบางอย่างคือทีวีเปิดช่องเดียวกันหมดทุกร้าน อาจจะเป็นกลยุทธ์ความเท่าเทียมของร้านอาหารที่นั่นก็คือ ชนิดอาหาร ราคาอาหาร คุณภาพอาหาร และรายการทีวีที่ดูแกล้มอาหารเหมือนกันหมด! แต่วันนี้ไม่ได้จะพูดเรื่องการตลาดหรือรสชาติอาหาร แต่ที่จะพูดถึงคือสิ่งที่เปิดในขณะนั้นคือละครเรื่อง “จำเลยรัก” ที่ทำให้ผู้เขียนตระหนักว่าละครน้ำเน่ายังคงอยู่คู่สังคมไทยมาเนิ่นนานจนถึงปัจจุบัน ก่อนอื่นขอจำกัดความก่อนว่า “ละครน้ำเน่า” ที่เรียกในที่นี้ไม่ได้มองในแง่ลบ แต่มันเป็นชื่อประเภทของละครที่คนไทยรู้และเข้าใจเป็นอย่างดี (ถ้าเป็นภาษาอังกฤษเขาเรียกกันว่า soap opera) ตั้งแต่ยังเด็กแล้วพ่อชอบบ่นเสมอ ๆ ขณะที่คนทั้งบ้าน (แน่นอนคนเขียนคอลัมน์ด้วย) นั่งดูละครน้ำเน่าเรื่องต่าง ๆ ว่าซ้ำซาก ไร้สาระ เนื้อเรื่องเดาออก แต่คนทั้งบ้านก็ไม่ค่อยจะสนใจและก็นั่งดูต่อไป จนถึงเมื่อวันที่พูดแต่ต้นเรื่อง เพื่อนผู้ชายที่นั่งกินข้าวด้วยกันก็ยังบ่นว่าละครน้ำเน่าไม่มีคุณภาพ และไร้สาระ เรียกกันว่าก็บ่นกันมาร่วมสิบกว่าปีเลยทีเดียว! ถึงจะมีคนบ่น คนด่ายังไง แต่ที่น่าสนใจคือละครน้ำเน่ายังคงอยู่คู่สังคมไทยมานานแสนนาน และยังคงครองใจประชากรส่วนใหญ่ที่ดูทีวีในช่วงหลังข่าวภาคค่ำ ไม่ว่าจะเป็นคุณหญิง นักเรียน แม่ค้า ไปจนถึงทุกคนที่มีทีวี ถึงแม้ตอนนี้เคเบิ้ลทีวีจะได้รับความนิยมเท่าไหร่ แต่เวลาหลังข่าวก็ยังคงเป็นของละครอยู่ดี แน่นอนว่าจิตวิทยาอธิบายเกี่ยวกับคน การที่คนชอบละครน้ำเน่าก็น่าจะอธิบายด้วยจิตวิทยาได้เช่นกัน อาจารย์จิตวิทยาสังคมท่านหนึ่งเคยพูดประเด็นนี้ในห้องเรียน แล้วเคยบอกให้ฟังว่า ที่ละครน้ำเน่าเป็นที่ชื่นชอบของคนไทยส่วนใหญ่ เพราะคนไทยส่วนมากเป็นคนที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ ละครน้ำเน่าที่มีเรื่องราวของบุคคลร่ำรวย ใส่เสื้อผ้าหรูหราฟู่ฟ่า นางเอกสวย พระเอกหล่อ มันก็เหมือนกับสิ่งที่ไม่ได้เจอในชีวิตประจำวัน และสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการจะได้ แม่ค้าที่ขายข้าวอยู่ในตลาดกลับมาบ้านคงไม่อยากดูละครที่ทั้งวันนางเอกอยู่ในตลาด พระเอกทำงานอยู่ในโรงงาน เพราะสิ่งเหล่านี้เขาก็คงเห็นอยู่ทุกวันจนเบื่อ อีกส่วนหนึ่งคือเนื้อเรื่องเดิม ๆ เช่น ตัวอิจฉาแย่งพระเอกจากนางเอก พระเอกหึงนางเอกที่อยู่กับเพื่อนเก่า การแก่งแย่งมรดกหลายล้าน จนถึงการสลับลูกของคนรวยและคนจน ทำไมคนถึงยังอยากดูเรื่องราวแบบนี้ ที่หลายเรื่องแค่ดูสองสามตอนแรกก็พอจะเดาตอนอวสานได้แล้ว ตามธรรมชาติของคนเราชอบที่จะเข้าใจมากกว่าจะไม่เข้าใจ เช่น ท่านผู้อ่านที่อ่านมาถึงย่อหน้านี้แล้วยังไม่เข้าใจว่าคนเขียนมันเขียนอะไรของมัน ก็คงไม่ชอบใจแน่ ๆ และคนเราพยายามเติมเต็มสิ่งที่ขาดหาย ถึงแม้จะมีไม่ครบแต่คนเราก็พยายามจะมองให้มันสมบูรณ์ เช่น ท่านผู้อ่านลองอ่านประโยคนี้ ”กา_ครั้_หนึ่_น_นม_แล้_” อ่านว่า “กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว” ถูกต้องเก่งมาก เอาไปสิบคะแนน งั้นลองข้อต่อไป ”_ม่_อ_อี_ แ_ _” เดาถูกไหมว่ามันอ่านว่า “ไม่เอาอีกแล้ว” คนไหนอ่านออกก็ไม่เป็นไร เก่งมากตบมือให้เลย แประ แประ แต่คนอ่านไม่ออกสิ รู้สึกขัดใจบ้างไหม เช่นเดียวกัน ละครไทยเหมือนโจทย์ข้อแรก มองปุ๊บก็เข้าใจทะลุปรุโปร่ง เรื่องราวหรือปมปริศนาในเรื่องก็เดาได้ไม่ยาก จะให้พูดก็คือดูแล้วไม่เครียด และไม่ขัดใจนั่นเอง อีกอย่างคือคนเราชอบความคงเส้นคงวา หรือเสมอต้นเสมอปลาย เช่น 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 15 28 รู้สึกขัดใจกับ 15 28 มั่งหรือเปล่า ถ้าเปลี่ยนเป็น 14 15 จะดูราบรื่นกว่า ละครน้ำเน่าจะมีเนื้อเรื่องที่เดาง่าย และคงเส้นคงวา เช่น ตอนต้นเรื่องนางเอกเกลียดพระเอก ต่อมามีเหตุการณ์ที่ทำให้ทั้งสองคนรักกัน ต่อมาจะมีเหตุการณ์ทำให้ทั้งสองผิดใจกัน แต่ในที่สุดทั้งสองก็จะแต่งงานกันอย่างมีความสุข เรียกได้ว่าพอดูปุ๊บก็รู้ตอนจบทันที แล้วก็จบแบบนั้นจริง ๆ เสียด้วย ไม่มีเลข 15 28 มาให้ขัดใจเหมือนหนังสมัยใหม่ที่มีหักมุม ซ่อนเงื่อน ก็ไม่ได้หมายความว่าละคร หรือหนังที่มีปริศนาเข้าใจยาก หรือเดาเนื้อเรื่องไม่ได้เลย จะไม่ใช่ละครที่ดี แต่ว่ากลุ่มเป้าหมายมันต่างกัน เพราะคนส่วนใหญ่ที่ดูละครน้ำเน่า ดูเพื่อคลายเครียดจากการทำงานเหนื่อยล้ามาทั้งวัน เรื่องที่เข้าใจง่ายเดาง่ายมันย่อมไม่ขัดใจ และเบาสมองมากกว่า เรื่องแบบนี้ไม่ว่าเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ก็เหมือนเดิม เสน่ห์อีกอย่างของละครไทยคือต้องดูเป็นหมู่คณะถึงจะสนุก ดูแล้วเงียบ ๆ คิดอยู่คนเดียวไม่สนุกแน่ ๆ ต้องดูกับเพื่อนฝูง หรือครอบครัว คอยวิจารณ์ และเดากับคนอื่น ๆ ว่าฉากต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นจะสนุกมากขึ้นหลายเท่า ไม่เชื่อคืนนี้หลังข่าวลองเรียกคนในครอบครัวมาดู อาจได้อรรถรส และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะไปในตัว แล้ว น. 13+ จะมีประโยชน์ก็งานนี้แหละ |
Archives
February 2016
Categories |