By NusNus
คำว่า “หัวใจ” หรือ “จิตใจ” เป็นคำที่ผู้เขียนเองคิดว่าคนทั่วไปใช้บ่อยคำหนึ่ง หรืออาจจะเป็นเพราะผู้เขียนเรียนคณะจิตวิทยาก็ไม่ทราบ แต่อย่างไรก็ตามจากการสังเกตทั่ว ๆ ไป เช่นจากเนื้อเพลง จากงานศิลปะ จากศาสนา คำว่าหัวใจหรือจิตใจต่างก็เป็นสิ่งที่พูดถึงกันโดยทั่วไป หัวใจหรือจิตใจ ณ ที่นี้ไม่ได้หมายถึงอวัยวะของร่างกายที่คอยสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะอื่น ๆ แต่จิตใจหมายถึงจิตใจแบบที่เป็นนามธรรม สิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึก รัก เกลียด ดีใจ เสียใจ ต่าง ๆ หรือตามคำในลักษณะว่า คนไม่มีหัวใจ คนนี้จิตใจงาม หัวใจบอกให้ทำ รักจากใจ อะไรทำนองนั้น จิตใจตามความหมายของจิตวิทยาจะว่าแตกต่างก็แตกต่างจากจิตใจตามความหมายของบุคคลทั่วไป โดยความหมายของจิตวิทยา จิตใจหมายถึงสิ่งที่ควบคุมพฤติกรรมทั้งความคิด และการกระทำของมนุษย์ ในความหมายนี้กว้างกว่าความหมายของคนทั่วไป โดยผู้เขียนคิดว่าหากคนทั่วไปพูดถึงการกระทำที่เกี่ยวข้องกับจิตใจก็น่าจะหมายความถึงการกระทำหรือความคิดที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกลึกซึ้ง เช่น ความรัก ความเมตตา ในทำนองนี้เสียมากกว่า หากมีนักธุรกิจที่ทำให้คู่แข่งผู้เป็นเพื่อนล้มละลายเพื่อผลประโยชน์ การกระทำแบบนี้คนทั่วไปอาจจะเรียกว่าเป็นคนไม่มีหัวใจ แต่การกระทำอะไรก็ตาม จิตวิทยาก็ถือว่ามาจาก “จิต” ทั้งนั้น การยอมรับว่า “จิตใจ” มีอยู่ในโลกของปรัชญา และวิทยาศาสตร์ค่อนข้างยุ่งยากทีเดียว จิตใจจะว่ามองเห็นด้วยตาเปล่าก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่ง และก็อาจจะบอกว่ามองไม่เห็นด้วยตาเปล่าก็อีกส่วนหนึ่ง ทางวิทยาศาสตร์นั้น คนเราเข้าใจมานานแล้วว่า ความนึกคิดต่าง ๆ และการสั่งการอวัยวะของร่างกายหลายส่วน มาจากสมอง เราจะเริ่มคิดหรือเริ่มทำอะไร ในกลไกที่เรารู้ตัว หรือแม้แต่บางกลไกที่เราไม่รู้ตัวก็มาจากการทำงานของสมองทั้งนั้น จะว่าจิตใจอยู่ที่สมองก็คงจะไม่ผิดอะไร แต่อย่างไรก็ตาม สมองเป็นเหมือนจิตใจในส่วนที่มองเห็น หรือจะให้เปรียบเทียบก็อาจจะเป็นเครื่องกล แต่ปัญหาคือกลไกการทำงานของจิตใจไม่เหมือนเครื่องกล แบบนาฬิกา หรือเครื่องซักผ้า ที่มีกลไกทางมอเตอร์ไฟฟ้า เฟือง ลาน ชัดเจน แต่สมองไม่ใช่ กลไกการทำงานของสมองแม้แต่ในตอนนี้ก็ยังไม่รู้ทั้งหมดว่าสมองส่วนไหนทำอะไรบ้าง และถึงจะรู้ก็ยังไม่รู้ถึงระบบการทำงานของมันอย่างชัดเจน จะให้บอกว่าเมื่อเราเดินไปเจอคน ๆ หนึ่ง แล้วอยู่ ๆ ก็เกิดรู้สึกว่ารักคน ๆ นั้นขึ้นมา จะบอกว่าอะไรทำงานอย่างไร แล้วระบบที่ก่อให้เกิดความรู้สึกนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งจะอธิบายให้ชัดเจนนั้นก็ยังทำไม่ได้เท่าไรนัก จิตใจที่มองไม่เห็นคือส่วนนี้ ถ้าจะให้ผู้เขียนเปรียบเทียบก็อาจจะเทียบว่าจิตใจที่มองเห็นคือเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เป็นวัตถุจับต้องได้ ส่วนจิตใจที่มองไม่เห็นก็คือโปรแกรม ต่างกันนิดหน่อยที่โปรแกรมของจิตใจนั้นยากที่จะเข้าใจว่าหน้าตาของมันเป็นอย่างไร ในตอนนี้ทั้งจิตวิทยา และสรีรวิทยาต่างก็กำลังขะมักเขม้นศึกษากลไกของสมองอยู่ ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าในอนาคตเราอาจจะรู้ถึงการทำงานของสมองได้ทั้งหมด ซึ่งก็หมายความว่าได้เข้าใจจิตใจไปเสียส่วนใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามสมองไม่ใช่ทุกอย่างของจิต เพราะจิตใจหรือสิ่งที่คอยควบคุมความคิดและการกระทำนั้นต่างถูกส่งผลโดยสิ่งอื่น ๆ มากมาย ยกตัวอย่างเช่น เราอารมณ์เสียได้โดยอากาศร้อน หรือความรู้สึกหิวก็มีผลบางส่วนมาจากกระเพาะลำไส้ ตอนนั่งเขียนบทความนี้ผู้เขียนนึกถึงจิตใจ ผู้เขียนก็ยังนึกถึงหัวใจที่อยู่ที่หน้าอก แล้วผู้เขียนก็นึกถึงคนอื่น หรือแม้แต่ดารานักร้องเวลาพูดถึงหัวใจก็มักจะใช้มือจับที่หน้าอกข้างซ้าย ผู้เขียนเองก็คิดว่าเพราะอะไร คนสมัยก่อนคิดว่าความรู้สึกมาจากหัวใจที่อยู่ที่หน้าอก ซึ่งก็ส่งอิทธิพลมายาวนานจนถึงตอนนี้ ผู้เขียนคิดเองว่าอาจเป็นเพราะเวลาเกิดความรู้สึกที่รุนแรงบางอย่างเช่น กลัว หรือแม้แต่รัก หัวใจมักจะเต้นแรง การเชื่อมโยงของความรู้สึกกับการเต้นของหัวใจทำให้คนคิดว่าที่มาของความรู้สึกมาจากหัวใจตรงนี้เอง จะเพราะความเคยชินหรืออย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเองก็คิดว่าถ้าพูดถึงจิตใจแล้วจับที่หน้าอกซ้าย ก็คงดูดีกว่าจับที่หัวเยอะ. |
Archives
February 2016
Categories |