เขียนโดย Pim Nattanee Sukpreedee นักจิตวิทยาพัฒนาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กวัย 0-6 ปี www.pimandchildren.com
มีพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยที่ยังคิดว่าการตีเป็นเรื่องจำเป็น หรือว่ายังอินกับสุภาษิตที่ว่า "รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี" อยู่ ส่วนตัวครูพิมนั้น เลิกอินกับสุภาษิตนี้ไปนานแล้วค่ะ เพราะไม่ว่าจะเป็นตัวเองโดนตี หรือเห็นคนอื่นโดนตี ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเขาถูกกระทำด้วยความรักแต่อย่างใด ก็เลยงงๆ เหมือนกันว่า แล้วเด็กๆ จะเข้าใจเหรอว่า "แม่/พ่อ/ครู ตีเพราะรัก" คนรักกันเค้าไม่ทำให้เราเจ็บหรอกค่ะ จริงไหม? --------------------------------------- Darcia Narvaez ศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Notre Dame ได้ทำการรวบรวมงานวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับสาเหตุ และผลของการตีเด็ก ทั้งผลในระยะสั้น และระยะยาว บทความของเธอบอกเราว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่เลือกการตีเพื่อที่จะหยุดพฤติกรรมที่พวกเขาไม่ต้องการ และเพิ่มพฤติกรรมที่อยากให้เกิดขึ้น โดยพฤติกรรมที่มักทำให้เด็กๆ ถูกตีก็คือ 1) ไม่ทำตามคำสั่งในทันที (เช่นบอกให้ทำงานบ้าน อ่านหนังสือ ปิดโทรทัศน์) 2) ไม่ทำตามคำสั่งในระยะยาว (เช่นเรื่องที่เคยสั่งสอนไว้ก่อนหน้า หรือเรื่องที่เคยห้ามไว้) 3) แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว แม้ว่าการติดตามดูพฤติกรรมการตีจะเป็นเรื่องยาก เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่ได้ตีเด็กต่อหน้าคนแปลกหน้า (ในที่นี้คือนักวิจัย) แต่ก็มีนักวิจัยบางส่วนที่สามารถติดตามผลการวิจัยได้ โดยการสังเกตพฤติกรรมของผู้ปกครองกับเด็กเล็ก ในห้องปฏิบัติการที่จัดเตรียมไว้ให้ และการเก็บข้อมูลระยะยาว ผลจากการสังเกตและเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลานานพบว่า - การตีหรือการดุด่าของผู้ปกครอง ไม่ได้ช่วยลดความก้าวร้าวของเด็กลง และในความเป็นจริง เด็กที่ถูกตียังมีความก้าวร้าวเพิ่มมากขึ้น ทั้งในแง่ของจำนวนและระดับของความก้าวร้าว (พูดง่ายๆ ก็คือ ยิ่งถูกตี ก็ยิ่งก้าวร้าวมากขึ้นและบ่อยขึ้น หากวัดเป็นกราฟคือเพิ่มขึ้นจากตอนที่ยังไม่ถูกตีนั่นเองค่ะ-ครูพิม) - ในระยะยาว เด็กที่เคยถูกตี ก็ไม่ได้มีความก้าวร้าวลดลง แถมยังคาดการณ์ได้ว่า พวกเขาจะมีระดับความก้าวร้าวสูงขึ้นอีกด้วย ดังนั้นใครที่เข้าใจว่า ตีลูกแล้ว ในอนาคตเขาจะเข้าใจและไม่ทำผิดซ้ำอีกนั้น คุณเข้าใจผิดแล้วค่ะ (น่าเศร้ามาก) - ไม่ว่าเด็กที่ถูกตีจะมีพื้นนิสัยแบบใด เกิดในครอบครัวแบบใด หรืออยู่ในสังคมวัฒนธรรมใดก็ตาม ผลการศึกษาก็ออกมาตรงกันคือ การตี เพิ่มระดับความก้าวร้าวของเด็กทั้งในระยะสั้น และระยะยาวค่ะ |
Archives
February 2016
Categories |