เขียนโดย พงศ์มนัส บุศยประทีป
ความรักเป็นเรื่องใหญ่เสมอ ไม่ว่าจะยุคสมัยไหนก็ตาม ท่านจะพบว่าทั้งนิยาย บทละคร และบทเพลงส่วนใหญ่ต่างก็มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรัก เพราะอะไรคนเราถึงใส่ใจกับเรื่องความรักหนักหนา คำตอบหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าคนเรานั้นมีความสุขท่วมท้นเวลาที่มีความรัก ยิ่งในช่วงเวลาเริ่มต้นของการมีความรัก ช่วงเวลาที่รักเพิ่งสมหวัง รักนั้นจะมอบความสุขให้มากมายจนสิ่งอื่นๆ ก็ไม่อาจเทียบได้ แค่ได้อยู่ใกล้ชิดกับคนที่รักก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่แสนวิเศษแล้ว จะมีเรื่องใดที่ทำให้คนสุขใจได้เท่าความรัก... แต่โลกเรานั้น ทุกอย่างล้วนมีสองด้าน มีด้านสว่างก็มีด้านมืด มีด้านดีก็มีด้านไม่ดี รักเองก็เช่นเดียวกัน ความรักนอกจากจะมอบความสุขที่ท่วมท้นให้กับคนเราแล้ว ความรักยังมอบทุกข์ที่แสนหนักหนาให้กับใครต่อใครหลายๆ คนเช่นกัน นิยาย บทละคร หรือบทเพลงที่เกี่ยวกับความรักนั้น นอกจากจะนำเสนอถึงความสุขที่ได้จากรักแล้ว ยังเสนอความทุกข์ที่มาจากความรัก ไม่ว่าจะเป็นการลาจาก การไม่สมหวัง การทอดทิ้ง การทะเลาะผิดใจ หรือแม้แต่การหึงหวง รักให้ทั้งสุขให้ทั้งทุกข์ จนถึงขนาดมีคำพูดที่ว่า “ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” ในชีวิตจริงก็เช่นกัน หลายๆ ท่านอาจจะเคยพบเจอกับประสบการณ์ตรงจากความทุกข์ที่เกิดจากความรักมาบ้าง หรือบางท่านก็อาจจะมีคนรอบตัวที่ซึมเศร้า เป็นทุกข์เพราะความรัก นอกจากนี้ท่านคงเคยได้ยินข่าวการฆ่าตัวตายของคนที่ผิดหวังจากความรัก ถึงแม้จะเป็นเรื่องน่าเศร้า แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นข่าวที่เราได้ยินบ่อยๆ เราคงเห็นแล้วว่าความทุกข์จากความรักนั้นมีอิทธิพลต่อมนุษย์มากเพียงใด เพราะอะไร แค่คนรักอยู่ใกล้ก็ทำให้มีความสุข และเพราะอะไรการที่คนรักห่างเหินไปกับมอบความทุกข์มหาศาลมาให้ คำตอบนั้นอยู่ที่คำๆ หนึ่งที่ท่านคุ้นเคยกันดีนั่นก็คือคำว่า “ความผูกพัน” ความผูกพันคือสิ่งที่ทำให้คนสองคนต้องการอยู่ใกล้กัน ท่านคงเคยได้ยินคำนี้อยู่ในบทเพลง และนิยายรักบ่อยครั้ง หากใครผูกพันกับใคร ทั้งสองคนก็อยากที่จะอยู่ด้วยกันตลอดไป ไม่อยากจะห่างกันไปไหน ถึงคำๆ นี้อาจจะปรากฎอยู่ในนิยายหรือบทเพลงมากกว่าการใช้ในชีวิตจริง แต่เชื่อหรือไม่ว่าความผูกพัน หรือ “Attachment” ในภาษาอังกฤษนั้น เป็นชื่อกลไกของจิตใจอย่างหนึ่งที่นักจิตวิทยานั้นศึกษากันอย่างกว้างขวาง ความผูกพันนั้นเป็นกลไกที่เหมือนกับเชือกตามชื่อของมัน ก็คือ “ผูก” และ “พัน” ความผูกพันจะเป็นเหมือนสิ่งที่คอยผูกหรือมัดบุคคลที่ผูกพันให้อยู่ใกล้กันไว้ แต่นั่นก็ไม่ได้ความว่ามันมีพลังลึกลับ หรือเรามีเชือกที่มองไม่เห็นคล้องเราไว้กับใคร แต่สิ่งที่ทำให้คนที่ผูกพันกันอยู่ใกล้กันก็คือความสุขที่ได้อยู่ใกล้ และความทุกข์ที่ต้องแยกจากนั่นเอง ความผูกพันนั้นเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของความรัก คนรักกันก็จะผูกพันกันด้วย พอคู่รักได้ใกล้ชิดกลไกของความผูกพันก็จะทำให้ทั้งคู่สุขใจ และในทางตรงกันข้ามเมื่อคู่รักต้องอยู่ห่างไกล กลไกความผูกพันก็จะทำให้วิตกกังวล กระวนกระวาย ว่าอีกฝ่ายจะไม่รัก หรือแม้แต่รู้สึกหึงหวง กลัวว่าอีกฝ่ายจะไปมีคนใหม่ กลไกนี้เลยทำให้คู่รักอยากจะอยู่ใกล้ชิดกันตลอดเวลา เรามาดูที่มากันดีกว่า ว่านักจิตวิทยานั้นค้นพบกลไกของความผูกพันมาได้อย่างไร ความผูกพันประเภทแรกที่นักจิตวิทยาค้นพบคือความผูกพันระหว่างแม่และเด็ก จากความสงสัยว่าเพราะอะไร เด็กทารกถึงร้องไห้ และแสดงสีหน้าทุกข์ทรมานเมื่อแม่หายหน้าไป และเมื่อใดที่แม่พยายามจะออกห่างเด็กก็จะพยายามเหนี่ยวรั้งแม่ไว้ และในทางกลับกันเมื่อเด็กได้อยู่ใกล้ชิดกับแม่ เด็กก็มักจะอารมณ์ดีและดูมีความสุขมากกว่า ไม่ใช่แค่เด็กเท่านั้นหากผู้หญิงที่เป็นแม่คนต้องอยู่ห่างจากลูกเล็กๆ ของตัวเอง ก็มักจะมีเกิดความรู้สึกวิตกกังวล กระวนกระวายอย่างมากเช่นกัน เหมือนกับว่ามีอะไรบางอย่างมาผูกมัดทั้งแม่และเด็กไว้ด้วยกัน นักจิตวิทยาจึงค้นพบกลไกที่เรียกว่า ความผูกพัน ต่อมานักจิตวิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์แบบคู่รักในผู้ใหญ่จึงค้นพบว่ากลไกของความผูกพันก็มีบทบาทในคู่รักเช่นเดียวกัน คู่รักนั้นหากต้องอยู่ห่างกันก็จะรู้สึกวิตกกังวล กระวนกระวาย และความรู้สึกไม่ดีเหล่านั้นบางครั้งก็มากจนยากที่จะควบคุม แต่เวลาได้อยู่ใกล้กันก็มีความสุขมากอย่างหาสาเหตุไม่ได้ ซึ่งกลไกนี้คล้ายคลึงกับกลไกความผูกพันระหว่างแม่และเด็กเป็นอย่างมาก กลไกของความผูกพันนั้นฝังลึกมากับเราตั้งแต่เกิด เป็นเหมือนสัญชาตญาณเลยก็ว่าได้ ดังนั้นแม่และลูกจึงผูกพันกันตั้งแต่เมื่อลูกลืมตาเกิด และเมื่อคนเราตกหลุกรักใครแล้ว เราก็จะรู้สึกผูกพันกับคนที่เราเหมือนเป็นกลไกที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ หลายๆ ท่านอาจจะเริ่มสงสัยว่า แล้วเพราะเหตุใดธรรมชาติจึงต้องสร้างกลไกที่ทำให้แม่และลูก หรือคู่รักต้องการอยู่ใกล้กันถึงขนาดที่ว่าถ้าอยู่ไกลกันแล้วจะพบกับความทุกข์ทรมานอย่างมาก อยู่ใกล้กันแล้วจะมีประโยชน์อะไร กลไกของจิตใจมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์หรือความรู้สึกต่างๆ ล้วนแต่มีวิวัฒนาการมาเพื่อความอยู่รอด สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกดีส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์กับเรา เช่น เรารู้สึกดีเวลาได้กินอาหารหวาน เพราะอาหารที่หวานนั้นเต็มไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อมนุษย์ ส่วนสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดี ส่วนใหญ่มักจะเป็นสิ่งที่มีอันตรายต่อตัวเรา เช่น เรารู้สึกไม่ดีเวลากินอาหารที่มีรสขม เพราะอาหารที่มีรสขมมักจะมีสารพิษที่เป็นอันตรายปะปนมาด้วย ถ้าเช่นนั้นการได้ใกล้ชิดกับคนที่เรารักมีประโยชน์ต่อความอยู่รอดอย่างไร การจะตอบคำถามนี้ได้เราต้องมองย้อนไปในอดีตของมนุษย์ในช่วงหมื่นๆ ปีที่แล้วหรือนานกว่านั้นกันเสียหน่อย ในสมัยก่อนมนุษย์เรานั้นก็อาศัยอยู่ในในธรรมชาติที่เป็นป่าหรือทุ่งหญ้าเหมือนสัตว์อื่นๆ ทำให้มนุษย์เราต้องเผชิญกับอันตรายต่างๆ มากมาย เพราะรอบตัวเต็มไปด้วยสัตว์กินเนื้อที่เป็นผู้ล่า การที่จะมีชีวิตรอดหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราเอาตัวรอดจากผู้ล่าได้หรือไม่ กับมนุษย์ผู้ใหญ่นั้นก็พอจะเอาตัวรอดได้บ้าง เพราะสามารถวิ่งหนี หรือแม้แต่พอจะสู้กับผู้ล่าที่ตัวไม่ใหญ่มากไหว แต่กับเด็กทารกและเด็กเล็กๆ นั้นแทบจะไม่มีโอกาสที่จะรอดชีวิตจากผู้ล่าได้เลย ดังนั้นเด็กทารกและเด็กเล็กจึงจำเป็นต้องมีคนคอยปกป้อง และคนที่ทำหน้าที่นั้นก็คือแม่ของพวกเขานั่นเอง ธรรมชาติเลยสร้างกลไกความผูกพันให้แม่และเด็กอยู่ใกล้ชิดกันไว้ ให้เด็กคอยตามติดแม่ตลอดเวลา แม่เองก็ต้องอยู่ใกล้ลูกคอยปกป้องลูกจากอันตราย นอกจากนี้ เด็กทารกนั้นจำเป็นต้องกินนมจากแม่ และเด็กเล็กๆ ไม่สามารถหาอาหารเองได้ แม่และเด็กเลยจำเป็นต้องอยู่ใกล้ชิดกันเสมอ ไม่เช่นนั้นลูกก็จะอดตาย ในตอนนี้หลายๆ ท่านอาจจะเริ่มสงสัยว่า ถ้าเช่นนั้น แล้วคู่รักจำเป็นต้องผูกพันกันไปทำไม ในเมื่อต่างฝ่ายต่างโตแล้ว สามารถปกป้องตนเองได้ และหาอาหารเองได้ คำตอบก็คือในสมัยโบราณ คู่รักก็คือคนที่เป็นพ่อและแม่นั่นเอง แม่นั้นมีสัญชาตญาณให้เลี้ยงดูลูก มีความผูกพันใกล้ชิดลูกอยู่แล้ว แต่การที่แม่เลี้ยงลูกคนเดียวก็ถือว่าเป็นงานที่หนักหนาสาหัสอยู่ เพราะถ้าจะทิ้งลูกไว้แล้วไปหาอาหารลูกก็จะอยู่ในอันตราย แต่ถ้าจะดูแลลูกอย่างเดียว ก็จะหาอาหารได้ไม่เพียงพอ ดังนั้นธรรมชาติเลยสร้างให้คู่รักหรือพ่อและแม่ผูกพันกันไว้ ผู้ชายจะได้ช่วยผู้หญิงหาอาหารและคอยปกป้องผู้หญิงในช่วงเวลาที่ทั้งคู่มีลูก เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้ทั้งแม่และเด็กอยู่รอดปลอดภัย ดังนั้นคู่รักในตอนที่รักกันใหม่ๆ ถึงแทบจะไม่อยากอยู่ห่างกันเลยแม้แต่วันเดียว ความผูกพันนั้นเป็นกลไกที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณนับล้านปี และไม่ได้มีแต่ในมนุษย์เท่านั้น แต่ในสัตว์หลากหลายสายพันธุ์เราก็พบความผูกพันระหว่างแม่และลูก เช่น ในแม่ลิงและลูกลิง และในสัตว์อีกหลายประเภทเราก็พบความผูกพันระหว่างคู่รัก เช่น ในนกบางชนิด ความผูกพันเป็นกลไกฝังแน่นจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เราจึงมีความสุขและความทุกข์กับรักโดยที่ไม่ต้องเรียนรู้ ไม่ต้องมีใครมาสอน เนื่องจากความอยู่รอดเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากของสิ่งมีชีวิต อารมณ์ที่เกิดจากความผูกพันเลยเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นความสุขหรือความทุกข์ คนที่มีความรักเลยสุขเหลือล้นเวลาได้อยู่ใกล้คนรัก แต่ก็ต้องเป็นทุกข์ วิตกกังวลเมื่ออยู่ไกลกัน และทรมานแสนสาหัสตอนอีกฝ่ายบอกเลิก เพราะจะไม่ได้อยู่ใกล้กับคนที่เรารักอีกต่อไป ในตอนนี้หลายๆ ท่านอาจจะเริ่มสงสัยต่อว่า แล้วในปัจจุบัน ที่เราไม่ได้อยู่ในป่าเขา ท่ามกลางผู้ล่าเหมือนในสมัยก่อน และต่อให้มีมีแค่คนเดียวก็สามารถเลี้ยงลูกให้อยู่รอดได้ นอกจากนี้คู่รักในปัจจุบันก็ไม่จำเป็นจะต้องแต่งงานและมีลูกกันแน่ๆ เพราะมนุษย์เราไม่ได้มีลูกทันทีหลังจากที่รักกัน แถมบางครั้งรักกันมันไม่นานก็เลิกแล้วก็มีให้เห็นถมไป แล้วทำไมมนุษย์ถึงยังคงมีกลไกของความผูกพันอยู่ คำตอบก็คือกลไกของมนุษย์เรานั้น หากเป็นกลไกที่เกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติเหมือนเป็นสัญชาตญาณแล้ว สิ่งนี้ล้วนถูกฝั่งแน่นอยู่ในพันธุกรรมของเรา การเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้จะได้จากวิวัฒนาการเท่านั้น และวิวัฒนาการนั้นต้องใช้เวลานับล้านปี แต่มนุษย์เรานั้นเพิ่งมีที่อยู่ที่ปลอดภัย อาหารที่อุดมสมบูรณ์มาไม่ถึงหมื่นปีเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นมนุษย์เราจะยังอยู่กับกลไกของความผูกพันต่อไปอีกนานแสนนาน มาถึงตรงนี้ เราคงรู้จักหน้าตาของกลไกที่ทำให้เราเป็นสุขและเป็นทุกข์กับความรักกันไปพอสมควรแล้ว ในเรื่องความสุขจากความรักนั้น เราคงไม่เดือดร้อน อะไรที่ให้ความสุขมาก ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา แต่ความทุกข์จากความรักนี่สิ เราจะจัดการกับมันอย่างไร การที่เราได้ทำความรู้จักกลไกที่อยู่เบื้องหลังความทุกข์ และรู้ที่มาที่ไปของกลไกนั้น ส่วนหนึ่งน่าจะทำให้เราเข้าใจตนเองได้มากขึ้น เวลาคนเรามีความทุกข์เพราะความรัก เราจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ แต่ที่เรารู้สึกแบบนั้น ส่วนหนึ่งเพราะกลไกตามธรรมชาติของเราที่จะทำให้เราเป็นทุกข์แสนสาหัส เวลาที่เราต้องอยู่ห่างไกลจากคนรัก และหลายๆ ครั้งเลยทำให้ปัญหาเล็ก กลายเป็นปัญหาใหญ่ คู่รักที่อยู่ไกลกันเลยทะเลาะกันบ่อยครั้ง แถมบางคนก็หึงหวงอีกฝ่ายจนเกินพอดี สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสัญชาตญาณของเรา ดังนั้นหากเราเข้าใจที่มาของอารมณ์ลบ และความทุกข์เหล่านั้น เราก็จะเหมือนหาทางบรรเทาอารมณ์เหล่านั้นให้เบาบางลงได้ง่ายขึ้น มีสติกับอารมณ์ที่เกิดได้ง่ายขึ้น เราทุกข์เพราะรักไม่ใช่เรื่องแปลก ความรักเป็นสิ่งสำคัญ การที่เราจะทุกข์ที่ต้องแยกจาก วิตกกังวลเมื่อห่างไกล มันเป็นเรื่องปกติ แต่หากเรารู้สึกทุกข์ ซึมเศร้า และวิตกกังวลกับรักมากจนเกินไป ก็ลองคิดเสียว่าอย่าไปหมกมุ่นกับอารมณ์เหล่านั้นมากนัก เพราะกลไกที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดีเหล่านั้นมันสร้างมาเพื่อความอยู่รอดของมนุษย์ตั้งแต่อดีตที่เรายังอยู่ในป่า มีชีวิตอยู่ตามธรรมชาติ จนถึงตอนนี้ที่เราอยู่ในเมืองที่แสนห่างไกลธรรมชาติ กลไกดังกล่าวก็อาจจะล้าสมัยไปบ้างแล้ว . |
Archives
February 2016
Categories |