เขียนโดย พงศ์มนัส บุศยประทีป
เป็นเรื่องปกติที่บางครั้งเวลาเรามีความทุกข์ หรือรู้สึกซึมเศร้า เราจะไม่อยากทำอะไรเลยสักอย่าง อยากนั่งเฉยๆ คิดถึงเรื่องที่กำลังทุกข์ใจอยู่แบบนั้น แค่คิดจะลุกไปทำงาน หรือทำกิจวัตรอื่นๆ ที่จำเป็นก็เป็นเรื่องหนักหนาเอาการแล้ว เรื่องออกกำลังกายนั้นเลยแทบไม่ต้องพูดถึง แถมบางคนพอตกอยู่ในห้วงของความทุกข์ใจเมื่อไร เมื่อนั้นความอยากอาหารก็จะน้อยลงจนแทบจะไม่เหลือ ไม่อยากกินอะไรทั้งนั้นแม้ว่าจะมีของโปรดวางตรงหน้า พอทุกข์ใจแล้วกินอะไรก็ไม่อร่อยไปเสียหมด คนมีความทุกข์ร่างกายก็เลยอ่อนแอตามลงไปด้วย จริงอยู่ที่ช่วงเวลานี้เราไม่อยากทำ หรืออยากกินอะไรสักอย่าง อยากจะรอให้ความทุกข์ผ่านไปก่อนแล้วค่อยว่ากัน หลายๆ คนละเลยการใส่ใจดูแลร่างกายเพราะคิดว่าต่อให้ร่างกายแข็งแรงไป ก็ไม่ได้ช่วยให้ความทุกข์นั้นผ่านไปเสียหน่อย แต่ช่วงเวลาที่เราทุกข์นี่แหละครับที่เราควรจะดูแลร่างกายตนเองให้มากที่สุด หลายๆ ท่านอาจจะคิดว่าเรื่องของจิตใจและเรื่องของร่างกายนั้นเป็นสิ่งที่แยกกันต่างหาก ทุกข์ใจไม่เกี่ยวกับทุกข์กาย และทุกข์กายก็ไม่เกี่ยวกับทุกข์ใจ แต่ในความเป็นจริงแล้วกายและใจเป็นสิ่งที่ตัดไม่ตายขายไม่ขาด ตัวอย่างง่ายๆ คือเวลาเราป่วยหนักๆ ก็ยากที่เราจะมีความสุขในช่วงนั้นจริงไหมครับ ไม่ว่าจะเป็นไข้ ปวดหัว ปวดท้อง หรือเจ็บป่วยส่วนใดก็ล้วนแต่ทำให้เราทุกข์ทรมาน ต่อให้ไม่มีปัญหาเรื่องงานเรื่อง เรื่องเรียน เรื่องความรักมากวนใจในตอนนั้น แต่ก็ยากที่จะมีความสุขในภาวะเจ็บป่วย โบราณเขาถึงบอกว่า “การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ” ร่างกายกับจิตใจของคนเรายังเชื่อมต่อกันมากกว่านั้น คนเรานั้นเวลาต้องฝืนใจทำอะไร เราต้องใช้พลังงานมากกว่าปกติพอสมควร ท่านลองนึกถึงตอนที่ท่านออกไปเที่ยวเล่น ทำกิจกรรมที่ชอบ กับตอนที่ท่านต้องทำงาน ท่านจะเห็นว่าบางครั้งการได้ทำอะไรที่ชอบถึงแม้จะใช้พลังงานมากกว่า เช่น เล่นกีฬา เล่นเกม เดินเที่ยว ที่ทำเท่าไหร่ร่างกายกับไม่รู้สึกอ่อนแรงเท่ากับตอนที่เราทำในสิ่งที่ไม่ชอบอย่างการนั่งทำงาน ลองนึกถึงตอนที่เราเดินชอปปิงตั้งเกือบห้าหกกิโล เรายังไม่รู้สึกเหนื่อยเท่าการเดินเพื่อให้ติดต่องานกิโลเมตรเดียว ความรู้สึกเหนื่อยที่เพิ่มขึ้นมาจากความเหนื่อยกายมันก็คือความ “เหนื่อยใจ” นั่นแหละครับ คนเรานั้นมีกลไกของร่างกายที่เป็นเหมือนแบตเตอรี่สำหรับทำสิ่งที่ฝืนใจอยู่ ภาษาทางจิตวิทยาเรียกว่า “self-regulation” โดยที่ผมเปรียบเป็นเหมือนแบตเตอรี่เพราะว่ามันมีวันหมดนั่นเองครับ พอเราฝืนใจไปสักพักเราจะเริ่มรู้สึกอ่อนล้า และพอถึงจุดๆ หนึ่งเราจะเริ่มทนไม่ไหวที่จะฝืนทำสิ่งเดียวกันต่อหรือสิ่งอื่นๆ ที่ต้องฝืนแล้ว หลายๆ ท่านอาจจะเคยเป็นแบบนั้นในวันที่มีงานมากกว่าปกติ หรือต้องเรียนหลายวิชาในวันเดียวกัน พอเราฝืนใจมากๆ แบตเตอรี่ตรงนี้ก็จะค่อยๆ หมด ทำให้เราทนฝืนใจอะไรต่อไม่ได้ หากเราต้องทำงานต่อในช่วงนั้นเราก็จะรู้สึกว่าไม่มีสมาธิ คิดอะไรไม่ออก และช่วงเวลานั้นใครจะมาขัดใจเราไม่ได้เชียว จะหงุดหงิดง่ายกว่าปกติมากๆ เพราะเราอยู่ในภาวะที่ทนอะไรไม่ค่อยไหวแล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือแบตเตอรี่ของกลไกดังกล่าวนั้น มีความสัมพันธ์กับระดับน้ำตาลในเลือดของเรา ถ้าเรากำลังหิวๆ ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เราจะทนฝืนใจอะไรต่อสิ่งต่างๆ ได้น้อยลงตามไปด้วย คนที่กำลังหิวเลยโมโหง่ายๆ หรือที่เรียกว่า “โมโหหิว” อย่างไรล่ะครับ ดังนั้นเวลาที่เรากำลังมีความทุกข์ กำลังซึมเศร้า ในช่วงเวลาที่เราไม่อยากทำอะไรสักอย่าง ถึงแม้ว่าเราจะไม่เจริญอาหารแค่ไหน ก็ขอให้กินข้าวกินปลาตามปกติ อย่างน้อยก็ควรจะกินให้ครบสามมื้อ อย่าปล่อยให้ร่างกายของเราหิว เพราะถ้าระดับน้ำตาลในเลือดของเรามีน้อยเท่าไหร่ พลังงานที่เราจะใช้ในการฝืนฮึดสู้กับความทุกข์จะยิ่งมีน้อยเท่านั้น ร่างกายและจิตใจของมนุษย์นั้นปกติแล้วมีกลไกในการฟื้นตัวทั้งจากการเจ็บป่วยทางกาย และจากความทุกข์ใจด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว แต่ทั้งร่างกายและจิตใจต่างมีก็อกของพลังงานที่ต้องใช้ร่วมกัน ถ้าเรากินน้อยไป ไม่ใช่แค่ร่างกายจะไม่มีแรง จิตใจของเราจะไม่มีแรงตามไปด้วย ดังนั้นช่วงเวลาที่เราทุกข์ใจควรจะเป็นช่วงเวลาที่เราดูแลร่างกายให้ดี เพราะตอนที่เราเจ็บป่วย จะลุกจะนั่งก็รู้สึกลำบากไปหมด ทำอะไรแต่ละอย่างก็ต้องฝืนทำ แบตเตอรี่ของเราจะพร่องลงอย่างรวดเร็วทั้งจากการฝืนกายและการฝืนใจ ภาวะแบบนั้นจะทำให้เราไม่มีแรงที่จะฟื้นตัวจากความทุกข์ที่เรามี นอกจากนี้ช่วงที่เราทุกข์กายเป็นช่วงที่เราควรจะหาโอกาสเล่นกีฬาสักหน่อย ใครๆ ก็รู้ว่าการเล่นกีฬาช่วยทำให้ร่างกายของเราแข็งแรง การเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอเป็นยาดีในการป้องกันโรคภัย ในช่วงเวลาที่เราทุกข์ใจ ขนาดร่างกายเราแข็งแรงดีเรายังรู้สึกแย่ ดังนั้นอย่าปล่อยให้โรคต่างๆ มาทำให้เรายิ่งรู้สึกแย่หนักขึ้นอีกจะดีกว่าครับ ข้อดีของการออกกำลังกายยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะการเล่นกีฬาบ่อยๆ จะทำให้ร่างกายของเรามีแรง ไม่อิดโรย ไม่โทรม ความรู้สึกสดชื่น กับความรู้สึกห่อเหี่ยวของจิตใจนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความทุกข์ความสุขที่เกิดภายในใจของเราเพียงอย่างเดียว แต่เวลาที่สมองของเราจะตัดสินว่าตัวเรากำลังสดชื่นแจ่มใสแค่ไหน สมองพิจารณาทั้งร่างกายและจิตใจไปพร้อมๆ กัน หากร่างกายของเรารู้สึกกระปรี้กระเปร่า สมองของเราก็ตีความให้เรารู้สึกสดชื่นตามไปด้วย ถึงแม้ว่าการออกกำลังกายจะทำให้เรารู้สึกเหนื่อย แต่พอเราหายเหนื่อยแล้วร่างกายของเราจะรู้สึกดีกว่าการที่เรานั่งซึมเฉยๆ มากเลยทีเดียวครับ ดังนั้นในช่วงที่ทุกข์ใจ ฝืนตัวเองมาออกแรงสักหน่อย เอาแค่พอให้ร่างกายได้ขยับบ้าง ไม่รู้สึกว่าตนเองมีเรี่ยวแรงขึ้นบ้าง สิ่งนี้จะช่วยทำให้เรารู้สึกดีขึ้นมากทีเดียว สรุปแล้ว ถ้าใจกำลังเป็นทุกข์ และไม่รู้จะเริ่มแก้จากตรงไหน ทำให้ “กายเป็นสุข” ก่อน อย่าปล่อยให้กายป่วย ทรุดโทรม และท้องหิว เพราะนอกจากจะทำให้เราขาดแรงกายแล้ว แรงใจก็ลดน้อยลงไปด้วย ถ้ากายแข็งแรง ใจก็จะมีพลังฝ่าฟันความทุกข์ให้ผ่านไปได้ในไม่ช้า. |
Archives
February 2016
Categories |