psychola.net จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน

  • Home
  • Guidance
  • Applied
  • Movement
  • Books
  • About
  • Home
  • Guidance
  • Applied
  • Movement
  • Books
  • About

Applied
​จิตวิทยาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร

วิธีควบคุมใจเมื่อเราต้องทะเลาะกับใครก็ตาม (How to control yourself when you fight)

30/9/2015

Comments

 
เขียนโดย พงศ์มนัส บุศยประทีป

ท่านผู้อ่านเคยไหมครับ ตอนที่ทะเลาะกับคนสำคัญรอบๆ ตัวท่าน ไม่ว่าจะเป็นคนรัก พ่อแม่ พี่น้อง หรือเพื่อนสนิท สถานการณ์เหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการแน่ๆ เพราะคนสำคัญของเรา เราก็ไม่อยากจะให้เขาเกลียดเรา และเราก็ไม่อยากจะเกลียดเขาด้วย แต่พอทะเลาะกัน แน่นอนว่ามันก็ต้องมีปากมีเสียง มีการถกเถียงกันเป็นธรรมดา หลายๆ ครั้ง ทั้งเราและอีกฝ่ายเหมือนพยายามที่จะคุยกันดีๆ พยายามจะใช้เหตุผล ใช้อารมณ์ให้น้อยที่สุด แต่ยิ่งพูดกันอารมณ์กับยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น กลายเป็นยิ่งทะเลาะกันใหญ่โต เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น

คนเรานั้นเวลาเราพูดจา ถกเถียง หรือทะเลาะกันนั้น เราไม่ได้รับรู้อีกฝ่ายด้วยคำพูดเท่านั้น แต่เรารับรู้สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียงของอีกฝ่ายด้วย สิ่งที่ไม่ได้ออกมาเป็น “คำ” แต่สื่อความหมายได้นั้น เราเรียกกันว่า “ภาษากาย” นั่นเอง ท่านเลยจินตนาการว่ามีคนพูดกับท่านว่า “เชิญค่ะ” คนแรกพูดด้วยเสียงหวานๆ โค้งตัวให้ท่านน้อยๆ ยิ้มหวานๆ ให้ท่าน และผายมือไปยังสถานที่ที่เชื้อเชิญท่านไป กับอีกคนหนึ่งพูดด้วยเสียงตะคอก หน้าบึ้งให้ท่าน ใช้มือหนึ่งเปิดประตู และอีกมือชี้ให้ท่านออกไป แน่นอนว่าสถานการณ์แรกท่านจะตีความว่าเขาเชื้อเชิญอย่างเต็มใจ แต่อีกสถานการณ์เหมือนเขาจะอยากไล่ให้ท่านไปจากตรงนั้น

เวลาเราถกเถียงกันก็เช่นกัน หลายๆ ครั้งคนเราลืมไปว่า สิ่งที่ตัวเองพูดถึงแม้จะมีเนื้อหาที่พยายามจะปรับความเข้าใจอย่างเต็มที่ แต่น้ำเสียงนั้นยังดุดัน หรือบางครั้งฟังแล้วเหมือนประชดประชันอีกฝ่าย ยกตัวอย่างเช่น หากมีฝ่ายหนึ่งพูดว่า “ฉันผิดเองล่ะ” หากคนแรกน้ำเสียงอ่อนๆ ก้มหน้าลงต่ำๆ เหมือนสำนึกผิด กับอีกคนหนึ่งพูดด้วยคำพูดเดียวกัน แต่ใช้น้ำเสียงแดกดัน ประชดประชัน ท่านคิดว่าแบบไหนที่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายคืนดีกันได้ง่ายขึ้นครับ

ปัญหาส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะเราเองมักจะไม่รู้ตัวว่าเราทำสีหน้าอย่างไร แสดงท่าทางอย่างไร ตอนที่เรากำลังพูด โดยเฉพาะตอนที่เราโมโห แค่คุมสติไม่ให้พูดว่าร้าย ด่าทอ อีกฝ่ายก็ลำบากแล้ว การคุมสีหน้าท่าทางให้ดูสงบ ดูโอนอ่อน พร้อมจะประนีประนอมนั้นเลยเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก หากท่านกำลังโกรธใครใหม่ๆ ท่านลองส่องกระจกดูก็ได้ครับ แล้วท่านจะพบว่าสีหน้าของท่านนั้น ใครเห็นก็รู้สึกไม่ดี ไม่ใช่เพราะว่าท่านหน้าตาดีไม่ดีนะครับ แต่ใบหน้าของคนโกรธ เป็นใบหน้าที่ไม่ว่าใครก็ไม่ชอบ

น้ำเสียงเป็นอีกสิ่งที่คุมได้ยากยิ่ง เวลาโกรธกันนั้น ขนาดพูดด้วยเนื้อหาธรรมดาแบบยังฟังแล้วทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดีได้ ดังนั้นเวลาคนทะเลาะกัน เนื้อหาที่พูดกันบางครั้งก็วนไปวนมา แต่ยิ่งฟัง อารมณ์ยิ่งขึ้น ปัญหายิ่งบานปลาย

แล้วเราควรจะทำอย่างไรดี...

การรู้ตัวในเรื่องภาษากายนี้ตอนที่ทะเลาะกับคนอื่นก็พอจะช่วยได้บ้าง พยายามควบคุมภาษากายของเรา น้ำเสียงของเราไม่ให้กระแทกกระทั้น ไม่ให้ประชดประชัน ไม่ให้ดูเหน็บแนม หรือแม้แต่น้อยอกน้อยใจ พยายามอย่าสร้างความรู้สึกไม่ดีให้แก่อีกฝ่าย

แต่ตอนที่อารมณ์เราไม่ดีจริงๆ โกรธจริงๆ นั้น การควบคุมยิ่งทำได้ยาก ดังนั้นหากเราไม่พร้อมที่จะปรับความเข้าใจ หรือคืนดีกับใคร การขอเวลาอีกฝ่าย ให้ไปสงบสติอารมณ์นั้นน่าจะเป็นหนทางที่ดีกว่า พอเราสงบสติอารมณ์ของเราได้แล้ว การควบคุมภาษากายในแบบที่เป็นมิตรมากขึ้นจะทำได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่แบบที่ยิ่งมองยิ่งทำให้อีกฝ่ายโมโหหรือน้อยใจ
อดใจรอสักนิดดีกว่าแก้ไขตอนที่ไม่พร้อมแล้วทำให้ปัญหาแย่กว่าเดิมจริงไหมครับ

อย่าลืมว่าคนเรานั้น เวลาเราพูดไม่ใช่แค่ปาก แต่สีหน้า ท่าทางของเรานั้น พูดไปพร้อมๆ กับเรา.
Comments

    Archives

    December 2015
    November 2015
    October 2015
    September 2015

    Categories

    All
    แนะแนว

    RSS Feed

Home
Contact
Psychola.net เว็บนิตยสารออนไลน์เกี่ยวกับจิตวิทยา เน้นความรู้จิตวิทยาที่เอามาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน มีบทความแนะแนวเรียนจิตวิทยาสำหรับผู้สนใจเรียนด้านจิตวิทยา