by พงศ์มนัส บุศยประทีป
วันนี้ไม่ได้มาคุยถึงว่านางแบบต้องทำหน้า Strong แบบที่พี่ลูกเกดย้ำนะครับ แต่จะมาคุยว่าทำไมรายการนี้ถึงต้อง “แรง” แรงคือทำไมพิธีกรถึงต้องดุ ทำไมถึงต้องมีการเหน็บแนมจิกกัดกัน พูดเยาะเย้ยถากถาง ประชดประชัน ต่อหน้าตอนนั่งด้วยกันยิ้ม ลับหลังก็พูดเสียดสี แม้แต่กรรมการบางตอนก็ถึงขั้นพูดจารุนแรงจนแทบสะอึก ทำไมนะทำไม... ตอนที่ผมดูครั้งแรกๆ ผมนึกในใจว่า “คุยกันดีๆ ไม่เป็นหรือวะ” แต่พอมาดูเอง แล้วก็ทำให้รู้คำตอบว่าเพราะมันทำให้ดัง ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์กันก่อน คือมนุษย์นั้นเป็นสัตว์สังคม คืออยู่คนเดียวไม่ได้ เราต้องอยู่เป็นกลุ่ม แต่ไม่ได้หมายความว่าโลกทั้งโลกคือมนุษย์กลุ่มเดียวกันนะครับ เราค่อยๆ พัฒนามาจากกลุ่มเล็กๆ ครอบครัว หมู่บ้าน ไปจนถึงอาณาจักร ประเทศ สหพันธ์ กลุ่มยิ่งขนาดเล็ก เราก็จะยิ่งรู้สึกว่าเราผูกพัน ใครในกลุ่มได้ดีก็ดีใจ ใครมาร้ายใส่กลุ่มเราเราก็โกรธ ประเด็นคือ มนุษย์นั้นชอบจัดสรรตัวเองให้เข้าไปอยู่ในกลุ่มโดยอัตโนมัติ ไม่ว่านั่นจะมีเหตุผลหรือไม่ก็ตาม ลองนึกถึงกีฬาสีโรงเรียนก็ได้ครับ สมัยเด็กๆ นี่อินกับสีตัวเอง จนทะเลาะกับเพื่อนสนิทที่อยู่คนละสีก็มี ทั้งๆ ที่มันก็เป็นแค่กลุ่มสมมติ The Face นั้นเป็นรายการที่มีการแข่งขันเป็นทีม แต่ทีมที่ว่านั้นไม่ใช่เมนเทอร์และลูกทีมเท่านั้น แต่ทีมนั้นคือผู้ชมที่เชียร์ทีมที่ตัวเองชอบเป็นพิเศษด้วย สมมติว่าผมชอบลูกเกด ผมก็จะเป็น #ทีมลูกเกด (พยายามใช้ hashtag เพื่อให้ดูวัยรุ่น) ตามธรรมชาติของมนุษย์ เราจะไปอยู่ในกลุ่มลูกเกดไปด้วยครับ ถึงแม้ผมจะไม่ใช่นางแบบที่ไปแข่งด้วยก็ตาม และเมื่อไรก็ตามที่เรารู้สึกเข้าไปอยู่ในกลุ่ม “อคติของกลุ่ม” จะเกิดขึ้น เรารู้สึกว่ากลุ่มเราดีกว่าใคร และใครอย่ามาให้ร้ายคนในกลุ่มเรา ขีดเส้นใต้ตรงนี้ไว้ก่อน แล้วอะไรล่ะครับจะทำให้คนดูอิน คือเราต้องทำให้คนดูมีอารมณ์เข้มข้น และอารมณ์เข้มข้นอะไรที่รายการใช้ล่ะครับ ก็คืออารมณ์โกรธ เช่น พี่ลูกเกดมาบอกว่าคริสน่ะไม่เก่ง อารมณ์ขุ่นเคือง เช่น ทีมลูกเกดได้เดรสยาวไปสองสามเมตรต้องเดินลงบันได ไม่ยุติธรรม อารมณ์หมั่นไส้ เหมือนที่บีคอยชมตัวเองบ่อยๆ อารมณ์เห็นใจ เหมือนที่คริสโดนเอาลูกทีมออกแล้วออกเล่า ความ Strong ของอารมณ์ ไม่เพียงทำให้คนดูสนใจ แต่คนดูจะรู้สึกอินว่าทำไมอีกกลุ่ม ต้องมาร้ายกับกลุ่มฉันแบบนี้ ทีมลูกบีพูดแรงใส่ทีมคริสเมื่อไหร่ ใครชอบคริสก็จะเข้าสู่โหมด #ทีมคริส แล้วเริ่มเคืองขึ้นมาทันทีที่ว่าทำไมต้องมาว่ากลุ่มของเราเสียๆ หายๆ ทีมลูกเกดเอาเด็กทีมบีออกทั้งๆ ที่น่าจะเอาเด็กทีมคริสออก ใครชอบบีก็จะเข้าสู่โหมด #ทีมบี ก็จะเคืองที่รู้สึกว่ามันไม่แฟร์เลย ทำไมทำกับกลุ่มเราแบบนี้ พอเป็นทีม และพอทีมเกิดถูกรุกราน เราจะอิน แล้วเราจะมีอารมณ์ร่วม แล้วรายการมันจะดูน่าติดตามไปโดยไม่รู้ตัว อีกแง่มุมหนึ่งของ The Face คือ การสะท้อนสังคมการตีสองหน้า ที่มนุษย์นั้นรู้กันดีว่ามีในสังคม แต่ไม่เคยเห็นแบบชัดๆ ขนาดนี้ การกอดกันของคนเกลียดกัน การพูดดีต่อหน้า พูดร้ายลับหลังนั้น ล้วนแต่ทำให้คนดูรู้สึกอินได้ง่ายๆ ผมเองก็ไม่รู้ว่า The Face นั้นใช้สคริปต์หรือเปล่า แต่ต้นฉบับของดั้งเดิมก็แรง และได้ข่าวว่าแรงกว่าของไทยด้วยซ้ำ แต่เอาเป็นว่าความแรงนั้นทำให้รายการดังได้ ทำให้คนดูเป็น #ทีมลูกเกด #ทีมบี #ทีมคริส ได้ ทำให้คนดูรู้สึกมีอารมณ์ร่วมได้ แค่นั้นก็ทำให้คนดูติดหนึบได้แล้วครับ อย่าลืมติดตามบทความจาก Psychola กันต่อนะครับ ปล. อาร์ทิเคิลแบบนี้นะ บล็อกอื่นก็ทำไม่ได้ ค้านท์ดูอิท ในเพจเฟซบุ๊คเหรอ อย่าหวังเลย! photo credit: https://www.facebook.com/thefaceth/ เมื่อไม่กี่วันก่อนมีคนมาถามผมเกี่ยวกับกองทุนกองหนึ่ง ซึ่งโฆษณาเอาไว้ว่าจะสร้างผลตอนแทนให้คนที่นำเงินมาลงทุนได้เดือนละเป็นสิบเปอร์เซนต์ (ซึ่งถ้าบวกลบคูณหารดูแล้ว เพียงแค่ไม่ถึงปี...ก็จะได้เงินกลับมาเท่าตัวนึงเลยทีเดียว) ฟังดูแล้วเป็นอะไรที่ดูน่าดึงดูดใจสุดๆ แต่ช้าก่อน!!! จำนวนผลตอบแทนที่มากมายขนาดนั้น ความเสี่ยงที่ตามมาจะขนาดไหนกันล่ะ? “ความเสี่ยงน้อยมากเลย เพราะบริษัทมีการนำไปลงทุนใน@#@!@$!@#!” คำตอบที่คนชักชวนมักจะตอบให้แก่ผู้ได้รับโอกาสอันดีเลิศประเสริฐศรีที่ขี้สงสัย โอ้โหหหหหหหหหหหห (แบบยาวๆ) มีการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อยๆ ผลตอบแทนเยอะๆ และที่สำคัญคือแทบไม่ต้องทำอะไรเลย (นอนจิบกาแฟและใช้ชีวิตแบบ Slow Life แบบสบายๆ สิ้นเดือนมาก็มีเงินลอยมาให้ใช้) แบบนั้นบนโลกใบนี้ด้วยหรือนี่!!! ก่อนที่ผลตอบแทนอันสูงส่งจะชักจูงจินตนาการของเราให้ไปไกลกว่านี้ ผมว่าลองมามองกันในโลกแห่งความจริงๆ กันดีกว่าครับ ลองมาคิดเล่นๆ ง่ายๆ ดูว่าถ้ามีผลตอบแทนที่สูง และความเสี่ยงต่ำขนาดนั้น ป่านนี้ นักลงทุน รวมไปถึงสถาบัน และองค์กรต่างๆ ที่มีความรู้เรื่องการลงทุนในระดับยอดเยี่ยม และมองหาโอกาสในการลงทุนอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ก็คงจะแห่เอาเงินไปต่อแถวลงทุนกันยาวเหยียดไปแล้ว อย่างธนาคารเองก็คงไม่มานั่งปล่อยกู้ให้เราในอัตราที่ปีนึงได้ไม่กี่เปอร์เซ็นต์หรอกครับ (เอามาลงทุนแบบนี้เดือนเดียวก็ได้เป็นสิบเปอร์เซ็นต์แล้ว...ปล่อยกู้ทั้งปียังได้ไม่ถึงเลย) สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะแนะนำให้ทำเวลาที่มีคนมาชักชวนให้ไปลงทุนในลักษณะที่ ผลตอบแทนสูง แต่ความเสี่ยงต่ำ คือ พยายามมีสติ ดูรายละเอียดเงื่อนไขต่างๆ ให้ละเอียดถี่ถ้วน และที่สำคัญคือให้ระวังการโดนหลอกเอาไว้ด้วยก็จะดีครับ จริงๆ แล้วเรื่องทำนองนี้ดูเหมือนจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่เรื่อยๆ มีทั้งที่ตั้งใจจะหลอกลวง หรือแบบที่ไม่ได้หลอก (แค่บอกไม่หมด)... และแม้ว่าจะมีการบอกกล่าว หรือตักเตือนให้ระแวดระวังกันมากแค่ไหน ไม่วายก็ยังมีคนตกเป็นเหยื่ออยู่ดีครับ! ปัญหาไม่ใช่เพราะคนที่ถูกหลอกไม่เคยรับรู้เรื่องราวเหล่านี้หรอกนะครับ บางคนอาจจะเคยได้ยิน หรือแม้แต่เคยตักเตือนคนอื่นให้ระวังด้วยซ้ำ แต่พอถึงคิวตัวเอง เมื่อถูกโน้มน้าวชักจูงด้วยข้อความที่น่าหลงใหล ประกอบกับข้อเสนอที่น่าสนใจ ทำให้สุดท้าย ความโลภ ก็ขึ้นมาบดบังวิจารณญาณ รวมไปถึงการตัดสินใจในที่สุด ซึ่งแม้แต่คนที่หนักแน่น และมีความเชื่อมั่นสูงก็ไม่แน่ว่าจะรอดไปได้เสมอ มีการทดลองทางจิตวิทยาของ Solomon Asch ที่ได้ทำการทดลองเรื่องการคล้อยตาม (conformity) โดยแบ่งคนออกเป็นกลุ่มๆ ในแต่ละกลุ่มจะมีแปดคน โดยที่เจ็ดคนจะเป็นหน้าม้าที่ผู้ทำการทดลองได้ตระเตรียมเอาไว้ จะมีแค่หนึ่งคนเท่านั้นที่เป็นผู้ร่วมทดลองตัวจริง โดยการทดลองจะให้สมาชิกทุกคนในกลุ่มตอบออกมาว่าเส้นตรง 3 เส้น (A, B และ C) เส้นไหนยาวที่สุด (ซึ่งเส้นที่ให้มาจะค่อนข้างชัดเจนว่าเส้นไหนยาวที่สุด) ซึ่งในช่วงแรกๆ หน้าม้าทุกคนจะเลือกคำตอบที่ถูกต้อง แน่นอนว่าผู้เข้าร่วมทดลองก็ตอบได้ถูกเช่นเดียวกัน แต่หลังจากนั้นหน้าม้าก็จะพร้อมใจกันเลือกตอบข้อที่ผิด เพื่อดูว่าผู้ร่วมการทดลองจะทำอย่างไร
ผลการทดลองปรากฎว่ากว่า 30% ของผู้เข้าร่วมการทดลองเลือกที่จะคล้อยตามคำตอบของคนส่วนใหญ่ (หน้าม้า) ซึ่งเป็นคำตอบที่ผิด ตรงนี้ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยครับว่า บ่อยครั้งที่การตัดสินใจของตัวเราเกิดจากความคล้อยตามคนอื่น ไม่ได้มาจากเหตุผลหรือวิจารณญาณของตัวเราเองเสมอไป ซึ่งตรงนี้แหละครับที่บรรดาคนที่ต้องการจะมาชักจูงเรามักจะใช้กัน บางคนอาจจะมาเป็นพวก (แบบหน้าม้าในการทดลอง) บางคนอาจจะอ้างอิงแหล่งข้อมูลที่ (ดู) น่าเชื่อถือเพื่อให้เรารู้สึกว่าคนอื่นๆ เขาก็ทำกัน ดังนั้นเวลาจะเลือกลงทุนใดๆ ก็ตาม อยากจะขอให้ทุกคนมีสติ รอบคอบ และตั้งอยู่บนความเป็นจริง เวลาเห็นตัวเลขหรือผลตอบแทนใดๆ ก็พยายามดูเหตุดูผลว่าเป็นอย่างไร อย่าให้การถูกโน้มน้าวจากบุคคลอื่น หรือความโลภมามีอิทธิพลชี้นำการลงทุนของเรา ไม่เช่นนั้นสุดท้ายก็อาจจะต้องเสียใจ source: คลิปการทดลองของ Asch : https://www.youtube.com/watch?v=TYIh4MkcfJA บทความที่แล้วที่เรามาทำความรู้จักกับจิตวิทยาปัญญา ว่า จิตวิทยาปัญญา คืออะไร ใช้ทำอะไรได้บ้าง และได้เกริ่นถึงการนำความรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาปัญญามาใช้ในการรักษาผู้ป่วยทางจิต
หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยิน หรือ รู้จัก ความคิดและพฤติกรรมบำบัด หรือที่รู้จักกันดีคือ Cognitive Behavioural Therapy (CBT) ไม่มากก็น้อยนะคะ คอลัมน์นี้จะเจาะลึกไปถึงการทำงานของ CBT กันนะคะ จากตัวอย่างคราวที่แล้ว ถ้ามีความมั่นใจในตนเองต่ำ อาจจะเป็นผลจาก ความคิดที่ว่า เราไม่เก่ง ไม่สวย เราทำไม่ได้หรอก ความคิดลบๆเหล่านี้จะทำให้เรามีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เราจะเริ่มหลีกเลี่ยงเหตุการณ์นั้นๆ ที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดี เช่น เลือกที่จะทิ้งโอกาสในการทำงานหรือการเรียน เพียงเพราะแค่คิดว่าเราทำไม่ได้ เราไม่มั่นใจในตัวเอง แล้วแบบนี้ CBT จะช่วยเราได้อย่างไร? อย่างแรก CBT จะทำให้ช่วยคุณค้นหา และ ตระหนักถึงปัญหาของคุณ และ แหล่งที่มาของปัญหา ขั้นตอนนี้อาจจะยากสักหน่อยนะคะ แต่มันจะทำให้คุณรู้ว่าปัญหาเกิดจากอะไร และ ถ้าคุณยังคิดแบบเดิมอยู่ พฤติกรรมของคุณจะเป็นอย่างไร จากนั้น CBT ก็จะโฟกัสที่พฤติกรรมปัจจุบันที่เกิดจากปัญหานั้นๆ ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนวิธีการคิด เรียนรู้และฝึก ให้มีความคิดที่ดีและอยู่บนความเป็นจริงมากขึ้น เช่น เราไม่มั่นใจในตัวเอง เราไม่เก่ง กลัวว่าจะพูดผิด กลัวว่าใครจะมองเราไม่ดี ไม่กล้าออกไปพรีเซ้นท์ในห้องประชุม หรือ ห้องเรียน เมื่อเรารู้ถึงปัญหาของเรา และ ตระหนักถึงผลลัพธ์ของมัน ว่ามันอาจจะทำให้เราไม่ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ได้คะแนนในวิชานั้นๆลดลง แล้วจะทำอย่างไรให้เรามีความมั่นใจมากขึ้นได้? เราอาจจะค่อยๆปรับทัศนคติเกี่ยวกับการพรีเซ้นท์งาน เช่น เราต้องเชื่อว่าเราทำได้ ไม่ต้องกลัวว่าจะผิด ถ้าผิดก็ถือว่าเป็นบทเรียนแล้วกัน การพรีเซ้นท์งานไม่ได้น่ากลัวอะไร และ เราอาจจะค่อยๆฝึก พรีเซ้นท์ให้เพื่อนกลุ่มเล็กๆฟังดูก่อน เมื่อเห็นว่าเราสามารถทำได้แล้ว เราไม่กลัวที่จะเผชิญหน้ากับมันแล้ว แล้วค่อยๆ ขยับไปเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น หลังจากนั้นเราก็จะค่อยๆ มีความมั่นใจในตัวเองเพิ่มขึ้นเอง CBT สามารถใช้ได้ในผู้ป่วย โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ ละอื่นๆอีกมากมาย บทความหน้าจะเป็นอะไรอย่าลืมติดตามกันนะคะ. เขียนโดย Phot Dhammapeera
เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าพฤติกรรมที่เรามีอยู่นั้นเกิดขึ้นมาจากอะไร? อะไรที่ทำให้เราคิด หรือ ทำในสิ่งที่เราอยู่ จริงๆแล้วสิ่งที่เราทำมันมีที่มานะ ไม่ว่าจะเป็น การที่เราสามารถจำหรือลืมสิ่งต่างๆได้ แก้ปัญหาโดยใช้วิธีต่างๆ หรือแม้กระทั่งการให้ความสนใจกับบทความนี้ที่คุณกำลังอ่านอยู่ งานวิจัยด้านจิตวิทยาปัญญา สามารถตอบคำถามพวกนี้ได้ค่ะ จิตวิทยาปัญญา หรือ จิตวิทยาการรู้คิด (Cognitive Psychology) คืออะไรกันนะ? จิตวิทยาปัญญา เป็นสาขาหนึ่งของจิตวิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับ กระบวนการทางจิต, การรับรู้ การเก็บ และใช้ข้อมูลของคนเรา ได้แก่ ความคิด, การใช้ภาษา การแก้ปัญหา, ความจำ, และ การเรียนรู้ ซึ่งได้ใช้แนวคิดการศึกษากระบวนการเหล่านี้มาจากสำนักการคิดพฤติกรรมนิยม (Behaviorism) แต่จะเน้นการค้นคว้ากับกระบวนการภายในที่ไม่สามารถมองเห็นได้ จิตวิทยาปัญญา ใช้ทำอะไร ความรู้ต่างๆเกี่ยวกับ จิตวิทยาปัญญา สามารถนำไปใช้กับจิตวิทยาสาขาต่างๆได้ เช่น จิตวิทยาการบำบัด (psychotherapy) จิตวิทยาการศึกษา (educational psychology) จิตวิทยาสังคม (social psychology) จิตวิทยาพัฒนาการ (developmental psychology) หรือแม้กระทั่ง ในเชิงเศรษฐศาสตร์ (economics) จากตรงนี้ยังอาจจะยังไม่ภาพเท่าไหร่ว่า จิตวิทยาปัญญา จะเกี่ยวข้องกับสาขาอื่นๆได้อย่างไรบ้าง ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่านำความรู้ทางด้านจิตวิทยาปัญญามาใช้อย่างหนึ่งก่อนแล้วกันนะคะ จิตวิทยาปัญญาสามารถนำไปใช้รักษาผู้ป่วยทางจิตได้โดยการใช้ Cognitive behavioural therapy (CBT) โดยใช้แนวคิดที่ว่า ความคิดของเราสามารถส่งผลต่อการกระทำของเราได้ เช่น ถ้าเราไม่มั่นใจในตัวเอง คิดว่าตัวเองไม่ค่า ไม่สามารถทำอะไรได้ เราก็จะทำไม่ได้ หรือ บางทีเราก็คิดไปก่อนซะแล้วว่าเราทำไม่ได้ ทั้งๆที่ยังไม่ได้ลองทำเลยด้วยซ้ำไป CBT จะช่วยเราเปลี่ยนความคิดที่เรามีต่อตัวเอง แทนที่จะคิดว่า เราไม่มีค่า ทำอะไรก็ไม่ได้ เปลี่ยนเป็น คิดว่าเราก็ทำได้นะ เราไม่ได้ไร้ค่าสักหน่อย พยายามที่จะเปลี่ยนความคิดที่ส่งผลกับพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น เท่านี้ ก็ทำให้เราสามารถมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น กล้าที่จะทำอะไรมากขึ้น มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปแล้วล่ะค่ะ บทความต่อไปจะมาเล่าถึงการทำงานของ CBT กันนะคะ มาดูกันค่ะว่าทำไมแค่ความคิดเปลี่ยนพฤติกรรมถึงเปลี่ยนไปด้วย. เขียนโดย ครูปฐม
สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน บทความนี้เป็นบทความแรกของผมบนเว็บไซต์ “Psychola.net” สำหรับบทความของผมจะเน้นไปที่การนำจิตวิทยามาประยุกต์ใช้ หรืออธิบายเกี่ยวกับเหตุการณ์ในเรื่องของเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเงินๆ ทองๆ นั่นแหละครับ ในตอนแรกผมคิดอยู่นานว่าจะเอาเรื่องไหนมาเขียนเป็นบทความเปิดฤกษ์ดี? แต่สุดท้ายก็คงต้องขอเริ่มด้วยเรื่องที่ผู้คนเดี๋ยวนี้ให้ความสนใจ ( หรือภาษาที่คนรุ่นใหม่พูดสั้นๆ ว่า ฮิต) มากที่สุดเรื่องหนึ่งก็ว่าได้ ซึ่งนั่นก็คือ “การลงทุนในหุ้น” นั่นเองครับ จะไม่ให้เรียกว่าฮิตกันได้ยังไงล่ะครับ เพราะเดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะไปไหนมาไหนก็จะเห็นคนรุ่นใหม่ๆ (รวมทั้งที่ไม่ใหม่แล้ว) เปิดมือถือขึ้นมาดูหุ้นกันซะจนชินตา เผลอๆ ในบทสนทนาหลายต่อหลายครั้งก็อาจจะมีเรื่องหุ้นเข้ามาเกี่ยวด้วยเป็นประจำ โดยบทความนี้ผมจะพาทุกท่านไปดูว่า จิตวิทยา และ การลงทุนในหุ้น นั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไร (จริงๆ แล้วสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับการลงทุนอื่นด้วยก็ได้เหมือนกันครับ) มีทฤษฎีการลงทุนที่อธิบายถึงความสำคัญของปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการลงทุน (ว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จขึ้นอยู่กับปัจจัยใดบ้าง) โดยแบ่งเอาไว้เป็น 3 ปัจจัย ได้แก่ เครื่องมือที่ใช้ตัดสินใจในการลงทุน (Indicators) การบริหารจัดการเงิน (Money Management) จิตวิทยา (Psychology) คิดว่าอันไหนสำคัญที่สุดครับ? ถ้าให้ตอบผมเชื่อว่าคำตอบที่ได้หลายคำตอบน่าจะตอบผมว่า “สำคัญทุกปัจจัยนั่นแหละ” ก็จริงครับ สำคัญทุกปัจจัยจริงๆ แต่ระดับความสำคัญก็ไม่เท่าเทียมกันไปซะหมดหรอกครับ ซึ่งตามทฤษฎีแล้วได้ให้น้ำหนัก เครื่องมือที่ใช้ในการลงทุน มีความสำคัญที่ 10% , การบริหารจัดการเงิน (Money Management) มีความสำคัญ 30% และจิตวิทยา (Psychology) มีความสำคัญถึง 60% จะเห็นได้ว่าทฤษฎีนี้ให้ความสำคัญกับปัจจัยในด้านจิตวิทยามากกว่าปัจจัยอื่นๆ ซึ่งตรงนี้หลายคนที่ลงทุนในหุ้นมาอยู่แล้วอาจจะมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นก็แล้วแต่วิจารณญาณ และวิธีการลงทุนของแต่ละคนครับ แต่จากประสบการณ์การลงทุนในตลาดหุ้นที่ผ่านมาของผมแล้ว ทำให้ผมเห็นด้วยกับทฤษฎีนี้ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว เพราะถ้าเรามาวิเคราะห์ดูให้ดีแล้วจะพบว่า ต่อให้เรามีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ (สามารถบอกช่วงการซื้อขายได้อย่างแม่นยำ) มากแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีการบริหารจัดการเงินลงทุนที่ดี (เช่น การซื้อหุ้นตัวนั้นทั้งหมดรวดเดียวเลย หรือการกู้ยืมเงินมาซื้อหุ้น) ก็อาจจะเกิดความเสี่ยงขึ้นได้ในอนาคตก็เป็นได้ครับ และต่อให้คุณบริหารจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว แต่ในด้านจิตวิทยาคุณมีปัญหา เช่น รู้สึกกลัวที่จะซื้อหุ้น (เมื่อเงื่อนไขการซื้อขายตรงตามแผนที่วางเอาไว้) ในช่วงตลาดขาลง หรือรู้สึกมั่นใจมากเกินไปในช่วงตลาดขาขึ้น ก็อาจจะทำให้คุณพลาดพลั้งได้เช่นเดียวกัน นี่คือประเด็นสำคัญ และมีน้ำหนักมากที่สุดในการลงทุนในหุ้น (และการลงทุนอื่นๆ) เลยก็ว่าได้ เพราะไม่ว่าจะมีเครื่องมืออันแสนวิเศษเพียงใด (ผมจะให้น้ำหนักปัจจัยนี้ 100% เลย ถ้าเจอเครื่องมือที่ไม่มีทางผิดพลาด) หรือมีการบริหารจัดการเงินที่ดีเยี่ยมแค่ไหน แต่ถ้าคุณไม่สามารถควบคุมจิตใจ ความกลัว ความโลภได้ ท้ายที่สุดการลงทุนนั้นก็คงจะไปไหนไม่ได้ (ดีไม่ดีอาจจะต้องขาดทุนเสียด้วยซ้ำ) เปรียบเสมือนกับคุณมีรถยนต์ supercar ที่สามารถวิ่งได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าขับไม่เป็น ก็ไม่สามารถที่จะเคลื่อนที่ไปไหนได้ไกลนั่นแหละครับ เห็นมั้ยละครับว่าจิตวิทยากับการลงทุนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก ในบทความต่อๆ ไป ผมจะพยายามเจาะลึกลงไปในทฤษฎีของจิตวิทยาที่เกี่ยวของกับเรื่องเงินๆ ทองๆให้มากขึ้น ถ้าใครสนใจบทความที่ผมเขียนก็รอติดตามกันได้เลยครับ แล้วคุณจะรู้ว่า... จิตวิทยามีอยู่ทุกที่จริงๆ. |
Archives
February 2016
Categories |